สถานการณ์แรงงานไทยยังเจอกับค่าครองชีพราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น “ไม่สอดรับค่าจ้างขั้นต่ำ 328-354 บาท/วัน” จนไม่เพียงพอต่อการครองชีพเลี้ยงดูครอบครัวเกิดหนี้สินตามมา

ทำให้การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมักถูกหยิบยกมาถกเถียงกัน “ในแวดวงภาคประชาสังคม และวงนักวิชาการ” เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าในช่วงใกล้ “การเลือกตั้ง 2566” พรรคการเมืองต่างก็ชูนโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อหวังมัดใจผู้ใช้แรงงานในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่า เท่าที่ดูพรรคการเมืองชูนโยบายขึ้นค่าแรงหาเสียงเลือกตั้ง ล้วนเป็นการขายฝันตัวเลขไม่สอดคล้องความจริง

เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำนี้ “ถูกถกเถียงกันมานานควรขึ้นค่าจ้างเท่าใด” เพื่อให้เป็นธรรมต่อฝ่ายแรงงาน และฝ่ายนายจ้าง “ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน” ไม่สอดรับค่าครองชีวิตที่เพิ่มขึ้น

...

ทว่า ต้องเข้าใจว่า “ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน” จำนวนนี้เป็นกลุ่มทำงานอายุ 15-60 ปีอยู่ทั้งสิ้น 40.2 ล้านคน “แต่คนส่วนใหญ่กลับรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่มีหลักประกัน” ทำให้ลูกจ้างในระบบ และนอกระบบต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือ “ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน” จนไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ด้วยซ้ำ

หนำซ้ำยังมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะสอดรับกันหรือไม่อีก ทำให้แรงงานหันไปกู้หนี้ยืมสินจนต้องทำงาน “ใช้หนี้” เหตุนี้ลูกจ้างจะสามารถอยู่รอดได้ต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมง/วัน

ผลก็คือ “ร่างกายรับไม่ไหว” แล้วหลักประกันสังคมที่มีอยู่ก็ไม่ตอบสนองคนทำงานหนัก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงงานไทยต่างอยู่กันในสภาวะลำบาก เมื่อเป็นแบบนี้อนาคตประเทศไทยจะขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไร...?

ถ้าย้อนดู “ค่าแรงขั้นต่ำใช้ครั้งแรก 12 บาทในปี 2516” สมัยนั้นทองคำบาทละ 400 บาท หากไม่กินอะไร 1 เดือนจะซื้อทองได้ 1 บาท ตอนนี้ทองบาทละ 3 หมื่นบาทและค่าแรง 300 กว่าบาท/วัน เก็บเงิน 3 เดือนจึงจะซื้อได้

เห็นได้ชัดเจน “คุณภาพชีวิตของคนตกต่ำลงจนเกิดภาวะเป็นหนี้สิน” ทั้งการพัฒนาประเทศชาติก็ล้มเหลว “ชุนชนชนบทอ่อนแอ” ผู้คนต้องอพยพมาขายแรงงานตามหัวเมืองใหญ่ “แบบไร้หลักประกัน” ดังนั้น เลิกพูดค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นระบบโครงสร้างค่าจ้างแล้วทุกปีต้องปรับขึ้นเงินเดือนอิงกับดัชนีค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อ

ปัญหาว่า “การขึ้นค่าจ้างมักถูกใช้เป็นนโยบายหาเสียง” การเมืองเข้ามาแทรกแซงกระบวนการกลไกเจรจาต่อรองแล้ว “ผู้ใช้แรงงาน 40 ล้านคน” ที่ออกมาเรียกร้องค่าแรงมีสิทธิรวมตัวกันเป็นเพียงสหภาพแรงงาน 6 แสนคน ทำให้กลไกในการเจรจาต่อรอง “ไม่เกิดประโยชน์” จนเกิดช่องว่างเชิงโครงสร้างคนรวย และคนจนขึ้น

ก่อนหน้านี้ในปี 2560 “มีการสำรวจค่าครองชีพแรงงานทั่วประเทศ 3,000 คน” ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายรายวันตกอยู่ที่ 219 บาท/วัน และค่าใช้จ่ายรายเดือนเฉลี่ย 492 บาท/วัน หากจะให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวได้ตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาท/วัน หรือ 32,000 บาท/เดือน

ส่วนคนไม่มีครอบครัวพึ่งพิงอยู่ที่ 21,000 บาท/เดือน ดังนั้น กรณีการชูนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำนั้น เมื่อย้อนดูตัวเลขที่เสนอมาของแต่ละพรรคการเมืองนั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่

เรื่องนี้กลายเป็น “ทุกคนอยู่อย่างหวาดระแวง” เพราะไม่มีหลักประกันรายได้จาก “คนส่วนใหญ่หลุดจากการเจรจาต่อรอง” ฉะนั้น การเมืองที่จะมากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำควรกลับไปทบทวนคิดใหม่ “จัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดก่อน” ตามที่ภาคประชาชนเคยเสนอไปหลายครั้งแต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง...

“ฉะนั้น คำถามที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การเลือกตั้งเราต้องใช้วิจารณญาณย้อนกลับไปดูสิ่งที่ปรากฏในอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำได้จริง หรือเป็นแค่เพียงฝันไปเรื่อยๆ เพราะเท่าที่ดูตัวเลขนโยบายถูกชูการปรับค่าแรงแต่ละพรรคการเมือง ล้วนเป็นการขายฝันตัวเลขไม่สอดคล้องความเป็นจริงแม้แต่น้อย” สาวิทย์ ว่า

ตอนนี้ควรถกเถียง “เรื่องภาวะเศรษฐกิจ และสังคมให้จบก่อน” แล้วค่อยกำหนดตัวเลขครอบคลุมแรงงานในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างข้าราชการ เพื่อให้สอดรับพื้นฐานค่าแรงให้พัฒนาคุณภาพชีวิต และครอบครัวได้

เช่นเดียวกับ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) บอกว่า สำหรับแรงงานนอกมีอยู่ 20.2 ล้านคน “ต่างเจอปัญหาไม่ได้รับการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย” สังเกตจากในช่วงการระบาดโควิด-19 “แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกรับผลกระทบ” เพราะไม่มีค่าจ้างตอบแทนประจำ

อันเป็นผลให้ “ขาดรายได้” ต้องนำสิ่งของมีค่าออกขาย “บางคนลดค่าใช้จ่ายเคยกินข้าว 3 มื้อก็เหลือ 2 มื้อ” ดังนั้น แรงงานนอกระบบแทบไม่มีโอกาสจะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำ แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว “อาชีพแรงงานนอกระบบบางประเภทก็ยังไม่ฟื้น” เพราะต้องขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

เหตุนี้ “ภาครัฐ” ต้องทำการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างที่เป็นธรรมครอบคลุมในแรงงานนอกระบบด้วย เพื่อสร้างหลักประกันให้รับการส่งเสริมรายได้อย่างเท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบนั้น

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI บอกว่า ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบ และแรงงานในระบบ แต่หน่วยงานรัฐให้การคุ้มครองตามกฎหมายแก่แรงงานในระบบเท่านั้นหมายความว่าแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคนไม่ได้รับการดูแลแม้จะปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯหลายครั้งก็ตาม

แต่หากพูดถึง “การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450-600 บาท” มักเปรียบเสมือนเป็นเหรียญสองด้าน เพราะถ้าย้อนดูสมัยนโยบายปรับค่าแรงงานขั้นต่ำจาก 200 กว่าบาท/วัน ก้าวขึ้นมาเป็น 300 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคทั้งระยะกลาง ระยะยาว และเพิ่มต้นทุนการผลิตถึงร้อยละ 4

ทั้งยังส่งผลกระทบต่อ “ภาคการลงทุน” ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศลดลงเช่นเดียวกับ “ผลการศึกษาของ ม.หอการค้า” ก็ระบุว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน กระทบต่อภาคการผลิตสูงขึ้นร้อยละ 26.5 โดยเฉพาะกลุ่ม SME ได้รับผลกระทบมากที่สุด แล้วภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มลดการจ้างงานลงด้วยเช่นกัน

สิ่งนี้อาจใช้เป็นข้อมูลอุทาหรณ์กรณีต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามพรรคการเมืองชูประเด็นนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 เพราะอาจทำให้ค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจได้

“เหตุนี้ค่าจ้างขั้นต่ำบ้านเรามักขึ้นอย่างไม่มีอนาคต เพราะการเมืองเข้ามาแทรกแซงจนส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำจากครั้งแรก 12 บาท/วัน ผ่านมา 50 ปีถูกปรับขึ้นได้เพียง 300 กว่าบาท/วัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงประเทศด้อยพัฒนาเช่นนี้ เสนอว่าควรปล่อยให้การขึ้นค่าแรงเป็นไปโดยอัตโนมัติตามกลไกเศรษฐกิจนั้น” รศ.ดร.ยงยุทธว่า

ประเด็นอยากฝากไว้คือ “อัตราค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของแรงงานไทยทั้งในระบบ และนอกระบบ 39 ล้านคน ทำให้นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความจำเป็นในการคุ้มครองทางสังคม เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วตามหลัก “เศรษฐศาสตร์” สามารถเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยหลายวิธี

ดังนั้น การปรับค่าจ้างควรต้องเป็นตาม “นิยาม Living Wage หรือค่าจ้างตามอัตภาพ” จำเป็นต้องครอบคลุมถึงค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน หรือต้นทุนพื้นฐาน เพื่อให้ดำรงชีพของตนเอง และครอบครัวได้ ด้วยค่าตอบแทนที่แรงงานได้รับจากการทำงานไม่รวมค่าล่วงเวลา โบนัส หรือค่าตอบแทนพิเศษต้องได้รับอย่างเพียงพอ

สำหรับค่าครองชีพขั้นพื้นฐานตนเอง และครอบครัว ก็คือค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขนส่งเดินทาง ค่าเสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน แต่ปรากฏว่า “ค่าจ้างตามอัตภาพ” ก็ยังเป็นสิ่งที่แรงงานเรียกร้องกันทุกปีแต่กลับไม่เคยมีเสียงตอบรับเลยด้วยซ้ำ

นี่คือ “เสียงภาคประชาสังคม” สะท้อนผ่านเวทีสัมมนาสาธารณะ “ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย” หลักสูตร บสก.รุ่นที่ 11 ในการหาช่องว่างกึ่งกลางให้แรงงานอยู่ได้ และผู้ประกอบการก็ต้องอยู่รอดด้วย.