กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนการ "ผ่าตัดกระเพาะ" ใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็น "โรคอ้วน" ไม่ใช่ทางลัดในการ "ลดน้ำหนัก" พร้อมแนะใช้วิธีธรรมชาติ ก่อนพึ่งพาศัลยกรรม
วันที่ 3 เม.ย. 2566 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เผยว่า ปัจจุบันประชาชนทุกช่วงวัย ต่างให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ ร่างกายและบุคลิกภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่ม-สาว ที่นอกจากจะมีความต้องการให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว รูปลักษณ์ทั้งใบหน้า ร่างกาย ก็ต้องมีความสวยงาม สมส่วน แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและไขมันสูง อย่างจังก์ฟู้ด รับประทานไม่เป็นเวลา และขาดการออกกำลังกาย
จึงส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันมากเกินกว่าการเผาผลาญ จึงก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งโรคอ้วนนอกจากจะส่งผลต่อบุคลิกภาพแล้ว ยังเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิต ฯลฯ จึงอาจมีประชาชนบางรายที่ต้องการศัลยกรรม อย่างการผ่าตัดกระเพาะ ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงในสื่อโซเชียล มาช่วยในการลดน้ำหนัก
ทั้งนี้ กรม สบส.ขอเตือนประชาชนว่า การผ่าตัดกระเพาะ มิใช่ทางลัดในการลดน้ำหนักแต่อย่างใด แต่การผ่าตัดกระเพาะนั้น เป็นการรักษารูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้เป็นโรคอ้วนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เกิน 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และผ่านการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร หรือการออกกำลังกายภายใต้การดูแลของแพทย์แล้ว แต่ไม่เป็นผล จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มิได้ทำเพื่อความสวยงาม
...
ทางด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การผ่าตัดกระเพาะ เป็นการศัลยกรรมประเภทหนึ่งที่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง จะต้องมีการปรึกษากับแพทย์ถึงความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และต้องกระทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายไม่ให้เกิดไขมันสะสมจนเป็นโรคอ้วนนั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีไขมันสูง ของทอดต่างๆ เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นอาหารที่มีเส้นใย เพื่อช่วยดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งจะเป็นการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน.