สถาบันโรคทรวงอก เตือนสัญญาณโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นภาวะเร่งด่วนต้องรีบรักษา พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า 

วันที่ 1 เมษายน 2566 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยและทั่วโลก

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการอุดตันเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอันตรายรุนแรง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ทำให้ผู้ป่วยหมดสติกะทันหันและเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ถ้ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

ทั้งนี้ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน สาเหตุเนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือบริเวณที่มีคราบไขมันเกิดการปริของผนังหลอดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดและก่อตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการและสัญญาณเตือนของโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดร้าวไปกราม คอ สะบักหลัง แขนซ้าย เหนื่อย หายใจไม่ทัน บางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

...

เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอดูอาการที่บ้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้า ทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลวตามมา

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันพบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ การวินิจฉัยของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แพทย์จะซักประวัติ อาการ และทำตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด

หากพบว่ามีอาการเข้าได้กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ST elevation (STEMI) แพทย์จะรีบทำการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางสายสวนซึ่งต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด มีระยะเวลาที่เรียกว่านาทีทอง (Golden period) ในการเปิดหลอดเลือดอยู่ที่ 120 นาทีหรือประมาณ 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อลดปริมาณการตายของกล้ามเนื้อหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิต

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า