อ.ธรณ์ แนะคนไปเที่ยวอ่าวมาหยา เผยเส้นแบ่งสันติระหว่างคนกับฉลาม คือ "ลึกแค่เข่า" ชี้คนเที่ยวได้ ฉลามอยู่ได้ เราไม่เบียดเบียนกันและกัน
วันที่ 1 เมษายน 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า #แค่เข่า ใครที่ไปอ่าวมาหยา อาจได้ยินเสียงนกหวีดปรี๊ดๆ ของพี่เจ้าหน้าที่เป่าเตือนเป็นระยะ เมื่อนักท่องเที่ยวบางคนทำท่าว่าจะลงทะเลลึกเกินเข่า
บางคนอาจสงสัยในใจ ไปไกลกว่านั้นได้ไหม เดี๋ยวถ่ายภาพไม่สวย ขอสักแค่เอวก็น่าจะได้ ฉลามคงไม่เข้ามาใกล้ฝั่งขนาดนั้นหรอกมั้ง
ภาพจากคลิปของศูนย์อุทยานทางทะเล ถ่ายเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม คงพอบอกเราได้ว่าฉลามเข้ามาใกล้ขนาดนั้นครับ เฉพาะในวงแดง ผมนับฉลามได้ 13 ตัว อยู่ใกล้ฝั่งขนาดไหน ดูภาพก็บอกได้ ยังมีอยู่นอกวงอีกหลายตัว เพราะฉะนั้น ยังมีฉลามที่อ่าวมาหยา มีเยอะด้วย และเข้ามาใกล้ฝั่งด้วย
การศึกษาของอุทยานทางทะเลร่วมกับกลุ่มนักวิจัยฉลามที่อ่าวมาหยา พบว่าฉลามแบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มแรกเป็นลูกฉลามตัวเล็กมักอยู่ใกล้ฝั่ง หลายท่านไปก็คงเห็น
อีกกลุ่มคือพวกตัวใหญ่ จะอยู่แนวนอกห่างฝั่งออกไป 200/300 เมตร แต่ก็มีช่วงเข้ามาใกล้ฝั่งเหมือนกันนะ เหมือนในภาพนี้ เป้าหมายหลักของการจัดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยาคือคนเที่ยวได้ ฉลามอยู่ได้ เราไม่เบียดเบียนกันและกัน เราไม่รุกรานบ้านฉลามลึกเกินเข่า แม้เราจะไม่เคยคิดทำร้ายพวกเธอ แต่เธอๆ และลูกเธอๆ อาจตกใจ อาจว่ายหนีไปก็หนีมา รบกวนพฤติกรรม
...
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย ฉลามไม่คิดทำร้ายคน แต่ขนาดหมาแมวที่เราเลี้ยงยังเผลอกัดข่วนเราได้เลยครับ
เพราะฉะนั้น ลึกแค่เข่าจึงเป็นเส้นแบ่งอย่างสันติระหว่างคนกับฉลาม ทำให้แม้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะแล้ว แต่ยังคงมีฉลามหลายสิบอยู่ในอ่าวมาหยา
เป็นการแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ยั่งยืนทั้งการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็นใครก็ตะลึง ทึ่งกันไปทั่วโลกา
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงเข้าใจความหมายของ “แค่เข่า” และปฏิบัติตามกฎกติกา เพื่อให้ฝูงฉลามคงอยู่คู่มาหยาได้ตลอดไปนะครับ
ชมคลิปเต็มได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง