เมื่อสังคมไทยเต็มไปด้วย “การแข่งขันบีบคั้น” จนทำให้ผู้คนเกิดภาวะความเครียดสะสมกดดันกลายเป็น “คนสติแตกคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนก่อเหตุกราดยิงประชาชนอย่างอุกอาจโหดเหี้ยม” ที่เป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญต่อคนในสังคมไทยนับวันยิ่งจะเกิดถี่บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ

จริงๆแล้วเหตุการณ์กราดยิงนี้ “มักเกิดขึ้นบ่อยในต่างประเทศ” แต่สำหรับประเทศไทย “นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่” ที่กำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับการก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้นอันมีสาเหตุใดนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า

ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยช่วง 5 ปีมานี้มีการก่อเหตุร้ายแรงถี่ขึ้นจากสภาพสังคมกำลังป่วยหนักทั้งจิตใจผู้คน ระบบบริหารราชการ การตรวจสอบการคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมาย แล้วบวกกับ “เศรษฐกิจตกต่ำจากการระบาดโควิด–19” ทำให้บริษัทปิดกิจการกระทบต่อพนักงานถูกเลิกจ้างงานเดือดร้อนหลายครอบครัว

...

ขณะเดียวกันนโยบายทางการเมืองต่อการแก้ปัญหาทางสังคมนั้นกลับไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล “เกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย” กลายเป็นปัญหาคนไม่เคารพกฎระเบียบทางสังคมกันมากขึ้น

หนำซ้ำ “คนยุคนี้กลับหันไปใช้ชีวิตอยู่กับสังคมหน้าจอ” กลายเป็นการลดปฏิสัมพันธ์การใช้ชีวิตของความเป็นมนุษย์ร่วมกับคนในสังคมน้อยลงสามารถสังเกตจาก “ช่วงโควิด–19” คนสนใจอยู่กับบนโลกออนไลน์กันเป็นอย่างมาก ทั้งการเรียนรู้ การรับชมทีวี ดูความบันเทิง การสนทนา หรือการรับข้อมูลในเชิงลบอีกมากมาย

สิ่งนี้ทำให้ “มาตรฐานทางสังคมไทยถูกบิดเบือนคลาดเคลื่อน” อย่างเช่น เด็กเยาวชนกล้าเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายมากกว่าคนไทยสมัยอดีต ทั้งสามารถเข้าถึงอาวุธปืน กระสุนปืน สิ่งเทียมอาวุธ หรือการเข้าถึงพนันออนไลน์ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน “หน่วยงานภาครัฐ” กลับไม่มีมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวดจริงจัง

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ “เจ้าหน้าที่รัฐบางคนกระทำความผิดเสียเอง” ในการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในบ่อนการพนัน หรือการพนันออนไลน์ที่มักตกเป็นข่าวลือเกิดขึ้นกันอยู่ทุกวันนี้

ตอกย้ำด้วยปัจจุบันนี้ “สังคมไทยให้ความสำคัญหลักความเชื่อทางศาสนาน้อยลงมากๆ” ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ “ผลพวงจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน” ทำให้คนเกิดความเครียดต้องหันไปหาอบายมุขจนเกิดความเสื่อมโทรมด้านจิตใจ ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และวินัยของสังคมตามมา

อีกทั้งภาพลักษณ์ทางพุทธศาสนาก็ถูกทำลายจาก “พระบางรูปที่มีพฤติกรรมไม่ดี” ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ กลายเป็นกระบวนการให้สังคมมีทัศนคติเปลี่ยนใหม่ “ในที่สุดก็ไม่เชื่อคำสอนทางศีลธรรม” ทั้งที่ความจริงยังมีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่มากมายอันจะเป็นแบบอย่างให้ยึดมั่นเจริญรอยตามหลักธรรมคำสอนนั้นได้

เหตุนี้จำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมให้พุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมากขึ้น “มิใช่เพียงเข้าวัดฟังธรรมเท่านั้นแต่ควรมีการสอดแทรกในหลายมิติ” เพื่อเป็นหลักช่วยขัดเกลาให้ผู้มีความเชื่อเดินไปในทางที่ถูกต้อง

เพราะแนวคิดทฤษฎีพันธะทางสังคม (Social Bond) บอกไว้ว่า “มนุษย์มีความสามารถโดยธรรมชาติในการประกอบอาชญากรรมอยู่แล้ว” ถ้าควบคุมให้มีความผูกพันกับองค์กร หรือกลุ่มคนในสังคมก็มีแนวโน้มจะไม่ก่ออาชญากรรมจากพันธะทางสังคม 4 ประเภท ในจำนวนนี้มี 1 ข้อพูดถึง “ความเชื่อ” อันเป็นปัจจัยสำคัญ

กล่าวคือ “หากคนมีความเชื่อในสังคมสูง” แนวโน้มการฝ่าฝืนระเบียบของสังคมก็จะน้อยลงด้วย แล้วการกระทำผิดของบุคคลมักขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานความสัมพันธ์ในครอบครัว ความใกล้ชิด การมีพันธะ และการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันทางสังคม แต่ปัจจุบันผู้คนออกทำงานนอกบ้านจนการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวน้อยลงตาม

กลายเป็นว่า “คนยุคนี้จำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอยู่ลำพัง และมักพึ่งพาสังคมหน้าจออินเตอร์เน็ต” ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากสังคมไทยดังเดิม “เน้นนิยมวัตถุไม่สนใจวิธีการที่ได้มานั้น” อย่างเช่น บางคนมีฐานะร่ำรวยแต่เบื้องหลังอาจทำธุรกิจสีเทา บ่อนพนันออนไลน์ ขายแรงงานเถื่อน และค้ามนุษย์ก็มีอยู่มากมาย

สิ่งนี้เป็นต้นเหตุให้ “คนมีความเป็นมนุษย์ลดลง หรือเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์” โดยสภาพร่างกายเป็นมนุษย์ก็จริงแต่จิตใจโหดเหี้ยมไม่ใช่คนเหมือนกรณี “หนุ่มเพชรบุรี” ก่อเหตุกราดยิงได้แม้แต่คนที่ไม่เคยขัดแย้งกัน

ปัจจัยถัดมา “อาวุธปืนซื้อง่ายขายคล่อง” เหตุเพราะประเทศไทยมีช่องทางธรรมชาติเข้าออกเชื่อมโยงพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านหลากหลาย “การปิดสกัดกั้นลักลอบนำเข้าอาวุธปืนก็เป็นไปได้ยาก” แถมมีการประกาศขายบนออนไลน์โจ๋งครึ่มเกลื่อนเต็มไปหมด แต่กลับไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบปราบปรามด้านนี้โดยเฉพาะ

ผลก็คือ “อาวุธปืนถูกนำมาใช้ก่อเหตุง่ายขึ้น” เพราะตามหลักอาชญาวิทยานั้น “มนุษย์เกิดมาล้วนมีสัญชาตญาณดิบมาแต่กำเนิด” เมื่อเกิดมามักถูกขัดเกลาจากสถาบันครอบครัว การศึกษา หรือเพื่อนร่วมสังคม ในการช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมให้สามารถอยู่ในสังคมได้ปกติสุข

“ส่วนคนอยู่ในครอบครัวแตกแยก ไม่สนใจเรียน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไม่ดีนั้น การขัดเกลาสัญชาตญาณดิบย่อมน้อยกว่าปกติแล้วถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และมีอาวุธปืนอยู่ในมือด้วยกระบวนการคิดตัดสินใจจะผิดปกติแตกต่างจากคนอื่น สุดท้ายนำไปสู่การก่ออาชญากรรมง่ายขึ้น” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ว่า

ถ้าหากย้อนกลับมาดูกรณี “ตำรวจคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนกราดยิงนั้น” ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญตามผลการสำรวจเก็บข้อมูลนั้น “อาชีพตำรวจ” มักมีความเครียดมากกว่าพลเรือนทั่วไปถึง 2 เท่า เหตุผลก็เพราะว่าเป็นบุคคลคอยทำหน้าที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอยู่ตลอดเวลา

สังเกตได้จาก “ประชาชนเดินขึ้นโรงพัก” ล้วนเป็นผู้เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือแทบทั้งสิ้น “ฉะนั้นโดยหน้างานอาชีพตำรวจจึงมีความเครียดสูง” แต่ว่าโครงสร้างการบริหารองค์กรกลับขาดหลักธรรมาภิบาลไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายไม่เป็นธรรม หรือการปรับเปลี่ยนสายงานโดยไม่สมัครใจ

บางคนไม่ทำงานคอยดูแลประจบประแจงผู้บังคับบัญชากลับเจริญเติบโตเร็วขึ้น ส่วนคนก้มหน้าทำงานไม่มีเส้นสายกลับถูกปรับเปลี่ยนไปอยู่สายงานไม่ถนัดด้วยซ้ำ แล้วต้องอย่าลืมว่า “อาชีพตำรวจ” เป็นสายงานต้องรับผิดชอบ “คดีความ” ถ้าไม่มีความชำนาญโอกาสกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีติดคุกก็มีสูงกว่าอาชีพข้าราชการอื่น

ไม่เท่านั้นยังมี “องค์กรภายนอกแทรกแซงอำนาจการทำงานด้วย” เช่น กรณีตำรวจออกหมายจับนักการเมืองคนหนึ่งที่จะให้ถอนหมายจับนั้น “สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างตำรวจกำลังถูกกดขี่โดยอำนาจทางการเมือง” กลายเป็นการเพิ่มความเครียดเป็นดับเบิลขึ้นไปอีก

แล้วอาชีพตำรวจอยู่ใกล้ชิดอาวุธปืน “เมื่อเกิดความเครียด” ไม่ก่อเหตุฆ่าตัวตายก็ออกมาก่อเหตุยิงทำร้ายบุคคลอื่น เช่นนี้จึงอยากเสนอแนวทาง “การแก้ปัญหาความเครียดตำรวจ” ด้วยการจัดให้มีนักสุขภาพจิต หรือห้องสันทนาการไว้ผ่อนคลายประจำโรงพักเหมือนกับประเทศจีน เยอรมนี ที่ทำระบบนี้กันมานานแล้ว

ส่วนแนวคิด “ผบ.ตร.” สั่งสุ่มตรวจสุขภาพจิต และสุขภาพร่างกายตำรวจทั่วประเทศป้องกันเหตุซ้ำรอยนั้น “เป็นเรื่องดีมากๆ” เพียงติดใจว่าจิตแพทย์ในสังกัด สตช.อาจไม่พอทำพร้อมกันทั่วประเทศ “ควรวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกสังกัด” แล้วผลประเมินสุขภาพนี้ต้องไม่กระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง

มิเช่นนั้นตำรวจอาจจะไม่ยอมตรวจประเมินสุขภาพเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แล้วข้อสำคัญผลดำเนินงานต้องรายงานให้ “ผู้บังคับบัญชาทราบทุก 3 เดือน” เพื่อเป็นข้อมูลนำมาสู่การออกมาตรการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล การโยกย้ายอย่างเป็นธรรม และตำรวจทำดีตั้งใจทำงานต้องเจริญเติบโตในหน้าที่การงานนั้นเสมอ

ย้ำว่าทุกคนมีโอกาสเกิดความเครียดเท่ากันกลไกนักจิตวิทยาระดับท้องถิ่นเดินเคาะประตูบ้าน “ดูแลสุขภาพจิต” เป็นช่องทางหนึ่งเพื่อลดความเครียดในชุมชนเป็นศูนย์นำสู่สังคมน่าอยู่ปลอดภัยขึ้นได้.