ผวากันทั้งประเทศ “เมื่อท่อ สารกัมมันตรังสีซีเซียม–137 (Cesium, Cs–137)” ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กก.หายปริศนาไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำในนิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี ก่อนมาเจอกลายเป็นสารปนเปื้อนในฝุ่นแดงภายในโรงงานหลอมเหล็กตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

กระทั่ง “ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี” ปูพรมในโรงงานหลอมเหล็กก่อนพบสารกัมมันตรังสีซีเซียมปนเปื้อนเพิ่มเติมในเตาหลอมโลหะ 1 ใน 3 เตา ระดับต่ำ 0.07-0.10 ไมโครซีเวิร์ตต่อ ชม. ทั้งพบปนเปื้อนในระบบดูดฝุ่น และระบบกรองฝุ่นโลหะจำนวนหนึ่ง คาดว่าเกิดจากการหลอมโลหะในช่วงที่ผ่านมานี้

ท่ามกลางกระแสสงสัยยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า “ซีเซียมถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปหรือไม่” จนสร้างความหวาดวิตกให้ประชาชนไม่มั่นใจรับประทานผักผลไม้ในพื้นที่ “ถูกยกเลิกตีคืน” บานปลายกระทบถึงการท่องเที่ยวด้วย

แม้ภาครัฐจะยืนยันผลการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ผักผลไม้ในสวนใกล้โรงงานนั้น “ไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีซีเซียม–137” แต่ไม่อาจคลายความวิตกกังวลนำมาสู่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับซีเซียม-137 กับยาต้านพิษพรัสเซียนบลู (Prussian blue) ที่มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

...

ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ฯ บอกว่า ซีเซียม-137 ที่หายไปเป็นเครื่องมือวัดระดับขี้เถ้าในไซโลถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น วัดความชื้น วัดความหนาแน่นของกระดาษ หรือเหล็ก โดยปริมาณรังสีมีค่าการถูกใช้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2538 อยู่ที่ 80 มิลลิคูรี (80mCi)

ถ้าคำนวณเป็นน้ำหนักอยู่ที่ 0.000505 กรัม หรือประมาณ 505 ไมโครกรัม เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี หรือผ่านมาครึ่งชีวิต ความแรงรังสีซีเซียมได้ลดระดับลงคงเหลือปัจจุบันอยู่ที่ 41.4 มิลลิคูรี (ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพราะจากข้อมูลมีการใช้งานตั้งแต่ 1-10,000 มิลลิคูรี

หากนำปริมาณรังสีซีเซียมครั้งนี้มาเทียบกับ “อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl ปี 2529)” ที่มีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 27 kg หรือ 2.35×109 มิลลิคูรี อันมีปริมาณรังสีที่มากกว่าครั้งนี้ 56.76 ล้านเท่า

แม้แต่ “อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) ปี 2554” คาดว่าซีเซียมปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 มิลลิคูรี ที่มีปริมาณรังสีมากกว่ากรณีนี้ 11 ล้านเท่า โดย 24% ถูกปล่อยสู่ทะเลโดยตรง

ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นอย่างกรณี “เหตุโคบอลต์–60” ถูกแยกชิ้นส่วนโดยคนเก็บของเก่า ใน จ.สมุทรปราการ คาดกันว่าความแรงรังสีที่ผ่าไปแล้วมากกว่าครั้งนี้ถึง 1 พันเท่า แล้วในแง่พลังงานโคบอลต์-60 ที่ถูกใช้รักษาโรคมะเร็งมักมีพลังงานมากกว่าซีเซียม-137 ประมาณ 2 เท่า ทำให้ตอนนั้นมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตขึ้น

และมีคำถามว่า “ซีเซียม–137 ถูกหลอมมีโอกาสหลุดสู่สิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด” เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าซีเซียมมีจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็กคือ จุดเดือด 671 องศาฯ ถ้าเกิดหลอมซีเซียมมักจะระเหยเป็นไอ และเป็นฝุ่นในห้องหลอม หากมีการล้างห้องหลอม หรือควันเกิดจากการหลอมกระจายไปก็มีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

เหตุนี้ “ไอและฝุ่นในห้องหลอม” หากไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิด หรือถูกจัดการให้เป็นกากกัมมันตรังสี “โอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ปลิวสู่อากาศ หรืออาจสะสมในสิ่งแวดล้อมก็ได้” แต่ว่าตามข้อมูลจุดพบซีเซียมคือ “โรงงานหลอมเหล็กระบบปิด” ดังนั้นโอกาสที่รังสีจะหลุดรอดปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมก็ค่อนข้างน้อย

แต่ถ้ามองในสถานการณ์เลวร้าย “กรณีซีเซียมรั่วไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม” สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องอธิบายอย่างนี้ว่า “ผลของรังสี” สามารถรับได้จากภายนอกอันจะมีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน ดังนั้นกรณีที่ซีเซียมรั่วไหลย่อมส่งผลให้ประชาชนในชุมชนละแวกนั้น หรือพนักงานสูดดมเข้าสู่ร่างกายได้

ตอกย้ำว่าบริเวณพื้นที่รอบโรงงานที่เกิดเหตุ “สำนักงานปรมาณูฯ” มีการตั้งจุดตรวจเฝ้าระวังกัมมันตรังสี 5–6 จุด ปรากฏพบปริมาณรังสี 0.02–0.05 อันเป็นปริมาณปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ทั้งนี้ขอยืนยันว่า “กรณีมีกระแสซีเซียม–137 สามารถกระจายไปไกล 1,000 กม.นั้น” เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกระจายไปไกลขนาดนั้น เพราะซีเซียมมีความหนักมากกว่าฝุ่น PM 2.5 จึงไม่อาจปลิวไปไกลได้ อีกทั้งปริมาณการเจือจางตามธรรมชาติก็น้อยมาก ทำให้ยังไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

“ข้อกังวลการปนเปื้อนซีเซียม-137 ในผลไม้นั้นตามความจริงพืชผัก ผลไม้ นมที่ดื่ม มีสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้วขั้นตอนรังสีในดินปนเปื้อนไปสู่ผักผลไม้ต้องใช้เวลา ทั้งซีเซียมที่เป็นประเด็นมีปริมาณต่ำไม่มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้ ฉะนั้นทุกคนรับประทานผักผลไม้ และท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นปกติ” ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ว่า

เช่นเดียวกับ รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ฯ บอกว่า สำหรับซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีอันเป็นไอโซโทปโดยมีค่าครึ่งชีวิต (half-life) หมายถึงความแรงของรังสีประมาณ 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีเบตา และรังสีแกมมาออกมา

ฉะนั้น ถ้า “มนุษย์สัมผัสรับซีเซียมย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย” ส่วนความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น ระยะเวลา ปริมาณ ขนาด และบริเวณร่างกายที่ได้รับรังสีนั้นเป็นเพียงบางส่วน หรือทั่วทั้งตัว อันจะส่งผลต่อร่างกายแบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ “ระยะสั้น” มักมีผลเกิดเฉพาะที่ (local radiation injury)

เช่น เมื่อ “รังสีสัมผัสกับบริเวณผิวหนัง” ก็จะมีอาการผื่นแดง คัน บวม หรือมีโอกาสเกิดเป็นตุ่มน้ำเป็นแผลเกิดขึ้น รวมถึงอาจส่งผลให้ขน หรือผมร่วงก็ได้ด้วย ส่วนผลต่อระบบอื่นที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่เรียกว่า “กลุ่มอาการรับรังสีปริมาณสูงโดยฉับพลัน (acute radiation syndrome)” มักมีผลต่อระบบร่างกายหลายจุด

โดยอาการนำก่อนอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่าย จากนั้นจะหายชั่วคราว 1-3 สัปดาห์ แล้วจะส่งผลต่อร่างกาย 3 ระบบ คือ 1.ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำลง 2.ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้อาเจียนถ่ายเป็นเลือด 3.ระบบประสาท คนไข้มีอาการซึมลง ชัก สับสน เดินเซ

ในส่วน “ผลกระทบระยะยาว” มักเป็นการเพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งขึ้นได้

ประการต่อมา “ยาต้านพิษใช้รักษาภาวะพิษจากซีเซียม” มักกล่าวถึงกันมากก็คือ “พรัสเซียนบลู” ที่เป็นสารให้สีน้ำเงินใช้ในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษรักษาภาวะพิษซีเซียมปนเปื้อนในร่างกาย

แต่ว่าไม่ใช่รักษากรณีได้รับทางผิวหนัง หรือปนเปื้อนตามเสื้อผ้า เพราะพรัสเซียนบลูมีกลไกการออกฤทธิ์หลักจับกับซีเซียมในลำไส้ เพื่อป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทั้งยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับ และขับออกทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้งซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา

แน่นอนว่า “พรัสเซียนบลู” มักมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นในการรักษา เช่น ท้องผูก หรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟันเปลี่ยนสีได้ “จึงไม่ควรซื้อมากินเอง” เพราะสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และยิ่งกรณีซื้อขายในออนไลน์มักมีจุดประสงค์เพื่อเขียนภาพ “อันจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็ได้”

เหตุนี้การใช้พรัสเซียนบลูรักษาซีเซียม–137 ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ดีที่สุด

สุดท้ายนี้ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา “ศูนย์พิษวิทยาของประเทศไทย” เก็บพรัสเซียนบลูไว้ในคลัง แต่ด้วยตลอด 20 ปีมานี้ไม่มีการถูกเรียกใช้งาน ทำให้ยาที่จัดเก็บหมดอายุไปแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยจึงยังไม่มียาสำรองชนิดนี้ แต่มีข้อมูลว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งเพื่อเตรียมไว้ใช้แล้วในอนาคต

ย้ำว่าซีเซียม–137ที่เจอนั้นยังรอการพิสูจน์ว่า “เป็นชิ้นเดียวกันกับที่หายไปหรือไม่” เหตุนี้ประชาชนในพื้นยังต้องระวังสังเกตวัตถุต้องสงสัย “ป้ายสัญลักษณ์รังสี” กรณีเจอวัตถุต้องสงสัยอย่านำส่งคืน หรือพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง “ควรแจ้งสายด่วน 1296” เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้.