- ทำความรู้จัก "โรคฮาชิโมโต" ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
- แม้โรคนี้ จะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่ "ผู้หญิงวัยกลางคน" มักได้รับผลกระทบมากที่สุด
- การรักษาผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่แพทย์จะติดตามอาการ และเน้นที่การให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย
เคยเป็นไหม จู่ๆ ก็มีอาการหน้าบวม คอบวม หรือน้ำหนักตัวขึ้นโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่พฤติกรรมการรับประทานอาหารเท่าเดิม แน่นอนว่าหลายคนอาจวิเคราะห์อาการเหล่านี้ ว่ามาจากการที่เรากินเยอะ หรือกินอาหารเค็มมากเกินไป จนทำให้ตัวบวมขึ้นเท่านั้น
โดยเฉพาะสาวๆ ในวัยกลางคน ลองหมั่นสังเกตอาการให้ดี หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย รู้สึกหนาวง่ายขึ้น ผิวแห้ง ปวดกล้ามเนื้อตามตัว ไปจนประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ยิ่งต้องควรพบหมอ เพราะมันอาจจะภาวะอ้วน แต่เป็นสัญญาณเตือนของโรค "ฮาชิโมโต"
"โรคฮาชิโมโต" คืออะไร
โรคฮาชิโมโต คือ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน แล้วส่งผลให้ "ต่อมไทรอยด์" ที่ฐานของลำคอ เกิดอาการอักเสบเรื่อรัง จนทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องไปสู่ "ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ"
...
เนื่องจากต่อมไทรอยด์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อ ที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมน ที่สอดคล้องกับการทำงานของร่างกาย ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทุกเพศ ทุกวัย แต่ผู้หญิงวัยกลางคนมักได้รับผลกระทบจากโรคนี้มากที่สุด
สำหรับชื่อของโรคนั้น เป็นตั้งชื่เพื่อเป็นเกียรติแพทย์ชาวญี่ปุ่น DR.HAKARU HASHIMOTO (1881-1934) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่อธิบายลักษณะอาการของโรคดังกล่าว
โรคฮาชิโมโต เกิดจากอะไร
ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เป็นความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน แอนติบอดีที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายต่อมไทรอยด์ โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่คาดว่าไวรัสและแบคทีเรียอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติขึ้น นอกจากนี้ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ก็มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้ภาวะนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง อาจจะมีความเสี่ยงที่เกิดโรคนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิด "ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง" ดังนี้
- อายุ
ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเกิดกับคนในวัยกลางคน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ทั้งวัยรุ่น และเด็ก - เพศ
ผู้หญิงที่ความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังได้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจะเชื่อมโยงมาจากโอกาสการโรคไทรอยด์ ที่พบมากกว่าเพศชาย - โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
ผู้ที่มีเคยมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานอื่นๆ มักมีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังได้มากขึ้น - การบำบัดด้วยรังสี
จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ผู้ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยรังสี มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังได้มากกว่าคนปกติ - การรับประทานไอโอดีนมากเกินไป
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่บริโภคสารไอโอดีนมาก ก็มีความเสี่ยงที่เกิดเกิดโรคนี้เช่นเดียวกัน บางครั้งอาจแสดงในกลุ่มของอาการที่ไทรอยด์มากเกินไป หรือไทรอยด์น้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน ว่าไปยับยั้ง หรือทำให้มีการสร้างฮอร์โมนมากขึ้น
ลักษณะอาการของ "โรคฮาชิโมโต"
ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการป่วย ที่ส่งสัญญาณว่ากำลังเกิด ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง แต่ให้สังเกตเห็นที่ช่วงคอ หรือใบหน้า เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักมีอาการบวมที่คอด้านหน้า หรือคอพอก แล้วมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่เมื่อ ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น จนมองเห็นได้ ก็อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- หน้าบวมเป่ง
- รู้สึกหนาวง่าย
- ผิวแห้ง
- ปวดกล้ามเนื้อ และเมื่อยตามตัว
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
เมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะก่อให้เกิดความเสียหายเรื้อรังของต่อมไทรอยด์ ทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลง จนเกิดอาการอาการอื่นๆ ตามมา ดังนี้
- ปวดเมื่อยในบริเวณข้อ กล้ามเนื้อ
- มีอาการตึงกล้ามเนื้อ จนกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผิวซีดและแห้ง
- เหนื่อยง่าย
- ท้องผูก
- เล็บเปราะ
- ผมร่วง
- เกิดการขยายของลิ้น
- เลือดออกมากผิดปกติเมื่อมีประจำเดือน และมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น
- ประสิทธิภาพในการจำหมดลง
- อาการซึมเศร้า
ภาวะแทรกซ้อน
นอกจากอาการของโรคที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในร่างกายได้ ดังนี้
- ความผิดปกติของหัวใจ
ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับคอเลสเตอรอล ที่มีไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) มีปริมาณสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจโตและหัวใจล้มเหลว - ปัญหาสุขภาพจิต
ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง อาจมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ รวมถึงความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดขึ้นได้ในบางกรณี - ภาวะมิกซีดีมา (Myxedema)
ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง อาจนำไปสู่ภาวะมิกซีดีมา ซึ่งเป็นภาวะที่หายาก ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการหมดสติอย่างรุนแรง ผู้ที่มีภาวะมิกซีดีมา อาจรู้สึกไวต่อความเย็นมากขึ้น เกิดภาวะกดประสาท ภาวะติดเชื้อ หรือปัญหาอื่นๆ อันเป็นส่งสัญญาณถึงการเกิดของภาวะ โดยคนไข้จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที - ความพิการของของทารกแรกเกิด
ทารกที่เกิดกับสตรีที่มีภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่ไม่ได้รับการรักษา มักจะมีปัญหาสุขภาพมากกว่าทารกที่เกิดจากมารดาที่มีสุขภาพดี ปัญหาสุขภาพของทารก อาจรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ สมองและไต
ตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษา
การตรวจวินิจฉัยโรคฮาชิโมโต สามารถทำได้ ดังนี้
- ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยระยะแรก อาจตรวจพบระดับ TSH (Thyroid Stimulating Hormone) สูงเพียงอย่างเดียว ต่อมาอาจพบ T4 หรือ Free T4 ต่ำ และ T3 ต่ำตามลำดับ
- ตรวจระดับภูมิคุ้มกันไทรอยด์ (Thyroid Autoantibodies) ได้แก่ Anti - Thyroglobulin Antibody (Anti Tg) และ/หรือ Anti - Thyroid Peroxidase Antibody (Anti TPO) มีระดับสูง
ขั้นตอนการรักษาโรค
การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง สามารถทำได้ดังนี้
- ให้ฮอร์โมนสังเคราะห์
เนื่องจากภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จึงต้องให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติ และลดขนาดของต่อมไทรอยด์ ในรายที่มีคอพอกร่วมด้วย - ตรวจสอบผลของปริมาณยาที่ใช้
การได้รับยาในปริมาณที่ถูกต้องมีความสำคัญมาก ฉะนั้นในการรักษา แพทย์จะมีการตรวจสอบปริมาณยาอยู่เสมอ เพื่อทำการรักษา โดยปริมาณและการใช้ยา อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพอาการของคนไข้ - ติดตามอาการและฮอร์โมนไทรอยด์
ในบางรายที่ยังไม่ปรากฏอาการของโรค หรือคนที่มีเพียงคอพอก เนื่องฮอร์โมนไทรอยด์ยังปกติ แพทย์อาจติดตามอาการและการฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ ซึ่งผู้ป่วยก็ยังจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
วิธีการดูแลสุขภาพ
นอกจากจะต้องรักษาตามข้างต้นแล้ว ยังต้องใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- ในวัยทำงานใช้ชีวิตให้สมดุล แบ่งเวลาทำงานที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น คอโตขึ้น บวม น้ำหนักขึ้นมาก ควรพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคไทรอยด์ในครอบครัว
- ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดก่อนตัดสินใจ
ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟิก : Anon Chantanant