อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย "อะไรในหัวกุ้ง" หลังรายการดังผ่าแล้วเจอเม็ดดำแดงอยู่ในส่วนหัว ชี้คือ "อาหารกุ้ง" ที่ยังย่อยไม่หมด
วันที่ 27 มีนาคม 2566 ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กรณีชื่อบัญชี TikTok KHK.Shoes_Shop แชร์คลิปส่วนหนึ่งจากรายการคนหัวครัว "กุ้งอะไรทำไมน่ากลัว" โดยมีเสียงบรรยายว่า ซื้อกุ้งมา ใครมีความรู้บอกหน่อยว่านี่คืออะไร ไม่ใช่มันกุ้ง น่ากลัว
ทั้งนี้ ศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า จริงๆ อันนี้ก็ไม่แปลกมากอะไรนะครับ สิ่งที่เห็นเป็นเม็ดๆ ดำๆ แดงๆ อยู่ในส่วนหัวของกุ้งนั้น ก็คือ "อาหารกุ้ง" ที่ยังย่อยไม่หมด นั่นเองครับ ตรงหัวกุ้งนั้น จะเป็นที่รวมของอวัยวะสำคัญของกุ้ง โดยที่ถ้าเราไปกินกุ้งเผา แกะแล้วเจอเป็นก้อนแข็งๆ ออกสีแดงส้มบนหัวกุ้งเผา ที่หลายคนเรียกว่า "แก้วกุ้ง" ตรงนั้นจริงๆ จะเป็นรังไข่ (ovary) ของกุ้งตัวเมียที่เจริญเต็มที่แล้ว (ไม่ใช่ก้อนไขมันของกุ้ง แข็งเป็นก้อนอยู่ในหัวกุ้ง อย่างที่บางคนเข้าใจผิด)
ใต้ลงมาจากรังไข่ของกุ้งตัวเมีย (หรืออัณฑะ ถ้าเป็นกุ้งตัวผู้) จะเป็นแผ่นสีออกเหลืองๆ ส้มๆ แต่มีลักษณะเหลวกว่า อันนี้ก็คือส่วนที่หลายคนเรียกว่า "มันกุ้ง" ซึ่งก็คือ ส่วนของตับและตับอ่อนมารวมตัวกัน เรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า เฮปาโตแพนเครียส (hepatopancreas) เป็นบริเวณที่นิยมนำมารับประทานเช่นกัน (ทั้งแก้วกุ้ง และมันกุ้ง ไม่ได้มีสารเคมีอันตรายอะไร) และใต้แผ่นตับ/ตับอ่อน ลงไป ก็คือส่วนของถุงกระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งจะเห็นลำไส้เป็นเส้นสีดำ ตรงสันหลังกุ้ง และนำขี้กุ้งออกไปสู่ช่องทวารหนักของกุ้ง
...
จุดที่เห็นเม็ดอาหารกุ้งที่เห็นในคลิป ก็คือบริเวณกระเพาะอาหารของกุ้ง และอยู่ระหว่างการย่อยอาหาร เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของกุ้ง แต่กุ้งอาจจะโดนจับมาในตอนที่มันยังย่อยอาหารไม่หมด เลยผ่าออกมาเห็นเป็นเม็ดๆ (บางคนบอกว่า เป็นแผนเพิ่มน้ำหนักของกุ้ง ให้กุ้งกินเยอะๆ ก่อนจับมาขาย) และเวลาทำอาหาร เราก็แค่ตัดเอาส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้ทิ้งไป ก็สามารถบริโภคได้อย่างสบายใจแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่เห็นนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร และก็ไม่ใช่ "พยาธิ" อย่างที่บางท่านคิดด้วย จริงๆ แล้วถ้าเป็นกุ้งเลี้ยง จะมีโอกาสพบพยาธิในกุ้งได้น้อยมาก แตกต่างจากกุ้งน้ำจืดในธรรมชาติ ที่อาจจะพบพยาธิได้ โดยเฉพาะพวกพยาธิใบไม้ปอด จึงควรจะต้องทำให้สุกก่อนนำมากินเสมอครับ.