- ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย เกิดจากปัจจัย 3 ด้าน คือ ไอเสียจากรถยนต์กับการจราจรที่ติดขัด การเผาวัสดุการเกษตร และฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
- ปัจจัยด้านภูมิประเทศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ "ภาคเหนือ" ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่าภาคอื่นๆในประเทศ
- เผยข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ การแก้ปัญหา "หมอกควัน" ของรัฐบาลไทยล้มเหลว
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่คนไทยจะต้องเผชิญอยู่ทุกปี ตั้งแต่ช่วงเดือนปลายหนาว จนถึงต้นเดือนฤดูแล้ง สำหรับ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่หลายจังหวัดในขณะนี้ก็กำลังเดือดร้อน จากค่าฝุ่นที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่ และเชียงราย ที่ต้องเจอวิกฤติหนัก และยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่า ปัญหาทางด้านมลพิษดังกล่าว ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศ เพราะกระทบในเรื่องของคุณภาพดิน น้ำ และการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่า รวมถึงความหลากหลายด้านชีวภาพ โดยเฉพาะ "สุขภาพของประชาชน" ซึ่งเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด
...
จากข้อมูลของ State of Global Air รายงานว่า ในปี 2562 ไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM 2.5 ถึง 32,200 คน ในขณะที่ Greenpeace เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก PM 2.5 ปี 2564 สูงถึง 29,000 ราย ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยาเสพติด และการฆาตกรรมรวมกันเสียอีก จนหลายคนตั้งคำถามว่า "ทำไมประเทศไทย ถึงไม่สามารถจัดการปัญหาฝุ่นเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปสักที"
ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร
จากรายงานการศึกษาของ Greenpeace สามารถสรุปสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิด ฝุ่น PM 2.5 ได้เป็น 2 แหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ดังนี้
- แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 209,937 ตัน/ปี รองลงมาคือ อุตสาหกรรม 65,140 ตัน/ปี การขนส่ง 50,200 ตัน/ปี และการผลิตไฟฟ้า 31,793 ตัน/ปี
- แหล่งกำเนิดทางอ้อม ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยเกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมัน 231,000 ตัน/ปี จากโรงงานอุตสาหกรรม 212,000 ตัน/ปี และไนโตรเจนออกไซด์ ที่มาจากการขนส่ง 246,000 ตัน/ปี การผลิตไฟฟ้า (227,000 ตัน/ปี) และโรงงานอุตสาหกรรม (222,000 ตันต่อปี) ตามลำดับ
ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิด "ปัญหาฝุ่นละออง" ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น มีรายงานวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาฝุ่นละอองและฝุ่นพิษ PM 2.5 ว่ามาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1. ไอเสียจากรถยนต์กับการจราจรที่ติดขัด
ไอเสียจากรถยนต์และการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะพาหนะเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดเขม่าและฝุ่นควันมาก ประกอบกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเศษขยะ และกิจกรรมในครัวเรือน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตชุมชมอุตสาหกรรม จึงเป็นต้นตอสำคัญ ที่ทำให้เกิด PM 2.5 มากที่สุด
2. การเผาวัสดุการเกษตร
การเผาวัสดุการเกษตรทั้งในที่โล่งและที่ไม่โล่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดแรงงาน และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตชนบท และภาคการเกษตร เช่น การเผาอ้อยก่อนตัด การเผาตอซังในไร่ข้าวโพด และนาข้าว นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังมีการเผาเพื่อหาของป่า การเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่าและจับจองพื้นที่เพื่อทำกินอีกด้วย
3. ฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากต้นเหตุที่เกิดภายในประเทศแล้ว ฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากการเผ่าวัสดุทางการเกษตรหลังจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยก็เป็นอีกต้นตอหนึ่ง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือที่อยู่ติดชายแดนพม่าอย่าง จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย และภาคตะวันออกที่ติดเขมร ฝุ่นควันดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจการจัดการของรัฐไทย ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของฝุ่นมลพิษนี้เรียกว่า "airshed" หรือ "แอ่งฝุ่น PM 2.5"
ทำไมภาคเหนือ ถึงเจอพิษฝุ่น PM 2.5 หนักกว่าภาคอื่นๆ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ภาคเหนือ ถึงเจอพิษฝุ่น PM 2.5 หนักกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากความกดอากาศสูง ที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อ่อนกำลังลงลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ
ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ฝุ่นควันจึงสะสมในอากาศ ซึ่งสภาพอากาศที่แห้ง ก็ยังเอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่ายอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น เขตภาคเหนือยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น
ข้อจำกัดที่ทำให้การแก้ปัญหา "หมอกควัน" ของรัฐล้มเหลว
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อรู้สาเหตุของปัญหาฝุ่นแล้ว ทำไมถึงไม่จัดการแก้ไขได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, กัมพล ปั้นตะกั่ว และ สุทธิภัทร ราชคม นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวถึงข้อจำกัด 3 ด้าน ที่ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันของรัฐล้มเหลว ดังนี้
1. แนวทางการจัดการฝุ่น PM 2.5 แบบภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม
โดยแนวทางดังกล่าวนั้น คือ การตั้งกรรมการในเดือนตุลาคม ก่อนมีฝุ่น PM 2.5 และสลายตัวเดือนพฤษภาคม ทำให้ขาดความจำสถาบัน ขาดการจัดการและการศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ ซึ่งในกรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง 3
2. ท้องถิ่นขาดเงิน และถูกซ้ำเติมจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ
แม้ว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ จะได้ริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดภายใต้โครงสร้างการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ผ่านกระบวนการล่างสู่บน (Bottom Up) แต่ผลการดำเนินงานน่าผิดหวัง เพราะการจัดสรรงบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพ
3. ข้อมูลขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของฝุ่น PM 2.5 ที่มีจำกัด
แม้จะมีการจัดการฝุ่น PM 2.5 ภายในจังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ ชุมชน และกลุ่มประชาสังคม มีมาตรการป้องกันทั้งในเมืองและชนบท ก็ไม่อาจแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้
ดังที่เห็นตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการจัดการร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัด ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่วนหนึ่งพัดข้ามมาจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชายแดนฝั่งพม่า ที่ปลูกข้าวโพด ส่วนชายแดนเขมร ก็มีการปลูกอ้อยและเผาไร่อ้อย ทำให้ฝุ่น PM 2.5 พัดเข้าถึงกรุงเทพฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ
ซึ่งนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายของไทย ยังไม่มีข้อมูลและความรู้ว่าขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของฝุ่น PM 2.5 ที่เรียกว่า airshed อย่างเพียพอ ว่าในภาคเหนือ airshed กินพื้นที่เท่าไร และประเทศไทยมีกี่แห่ง แต่ละแห่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดใดบ้าง
เรารู้เพียงแค่ว่า 60-65% ของฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ มาจากต่างจังหวัดและประเทศเพื่อน จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อย่างเด็ดขาด จนนำไปสู่ความสำเร็จ
"พฤติกรรมของคนในสังคม" จุดอ่อนในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
นอกจากข้อจำกัด 3 ด้านที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พฤติกรรมของคนในสังคม ทั้งในเมืองและชนบท ก็เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเหตุผลดังนี้
- ในเขตชนบท นิยมเผาวัสดุการเกษตร เพื่อเตรียมทำไร่ หาของป่า จับจองพื้นที่ รวมถึงจัดการพื้นที่ป่ารกร้าง เพราะเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว สะดวกสบายและประหยัดต้นทุน
- การเปลี่ยนเครื่องจักรในโรงงาน และโรงไฟฟ้า จากพลังงานฟอสซิล เป็นไฟฟ้าหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดฝุ่น ทำได้ยาก เนื่องจากต้นทุนที่สุงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน เพราะคิดว่าไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องสูญเสียเพิ่ม
- ช่องว่างทางความรู้ และการเข้าถึงข้อมูลปัญหาฝุ่น ซึ่งอาจจะมาจากการขาดความรู้ หรือมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความคิดอคติเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นว่าไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง จึงทำให้หลายคนยังไม่ตะหนัก ถึงปัญหาและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจจะก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณของฝุ่นควัน
นโยบายแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 จากระดับล่างสู่บน
- เร่งศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขต airshed ของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาข้ามจังหวัดและข้ามประเทศ
- จัดทำแผนปฏิบัติด้านการบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยความร่วมมือของชุมชน อบต. หน่วยราชการในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใน airshed เดียวกัน
- สร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายในแต่ละ airshed กับประเทศเพื่อนบ้าน และนักธุรกิจไทยที่ไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพด และอ้อยในพม่า ลาว เขมร
- สร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เพื่อให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทางออกที่น่าจะมีความเป็นไปได้สำหรับเกษตรกรสูงอายุ ที่อยู่บนที่สูง โดยรัฐจะต้องเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราเท่ากับต้นทุนทางสังคมจากกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อก๊าซเรือนกระจก แล้วนำเงินรายได้มาใช้ซื้อคาร์บอนเครดิต รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าและดูแลจัดการอย่างจริงจัง
- นโยบายลดการเผาในที่โล่งในภาคเกษตรและป่า ในระยะสั้น ลดการเผา ทยอยกันเผา เช่น การอุดหนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับระดับแปลงไร่นาเพื่อใช้เครื่องจักรแทนการเผา ในระยะระยะกลาง วิจัย/พัฒนาพืชทดแทน สร้างอาชีพใหม่ เพื่อชาวบ้านมีรายได้ที่ดีจากอาชีพที่หลากหลาย
- นโยบายในเมือง : การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรม สร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ โดยเก็บภาษีคาร์บอน และการซื้อขายเครดิตคาร์บอน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน เพื่อลดฝุ่น PM2.5 และก๊าซเรือนกระจก
ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟฟิก : Sathit Chuephanngam
อ้างอิงข้อมูลจาก รายงานการวิจัย "ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5"