ฝุ่น PM 2.5 วนกลับมาสร้างปัญหาให้ชีวิตคนเมืองอยู่ทุกๆ ปี โดยในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือน ธ.ค.-มี.ค. ฝุ่นจะมีค่าสูงขึ้นมากจนถึงขั้นวิกฤติ ในพื้นที่ส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสาเหตุสำคัญที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ก่อวิกฤติอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากไอเสียรถยนต์หรือการจราจร อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้า การเผาในที่โล่งและในสถานที่ปิด หรือแม้แต่กิจกรรมในครัวเรือน ก็เป็นต้นเหตุสะสมฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน นั่นคือ การสูบบุหรี่ จุดธูปเทียน การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

แม้ว่าทุกวันนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหากวนใจชีวิตคนเมือง แต่กรุงเทพมหานคร ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการแก้ไขปัญหา และให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนคนเมืองมาโดยตลอด เพราะตระหนักดีว่าหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตินี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้คนอีกมากมายอย่างแน่นอน ทั้งปัญหาสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ดังนั้นการทำงานเชิงรุกของกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในสังคมเมืองเกิดการตระหนักรู้เท่านั้น แต่ยังต้องการสื่อไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจที่จะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

กรุงเทพมหานคร ได้ขับเคลื่อนและวางแผนดำเนินการด้วยแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ซึ่งได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาออกเป็น 4 ระดับ ตามปริมาณฝุ่น เช่น ระดับ 1 ปริมาณฝุ่นมีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะดำเนินมาตรการที่ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีภาครัฐในการตรวจจับควันดำจากต้นตอ โดยตั้งจุดตรวจควันดำรถยนต์ ตรวจสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ขณะที่ภาคประชาชนคนเมือง สามารถช่วยกันแจ้งเบาะแสรถควันดำผ่าน Traffy Fondue และติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างใกล้ชิด โดยดึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใกล้เคียงในเวลา 6 ชั่วโมงก่อนหน้า มาแสดงผล เพื่อวางแผนการเดินทางออกจากบ้านหรือที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง พื้นที่เกษตรกรรม เขตลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวา เน้นรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผา และช่วยเหลือโดยการนำฟางข้าวออกจากพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมาตรการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน

มาตรการระดับ 2 ปริมาณฝุ่น มีค่าระหว่าง 37.6-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง กทม.จะเพิ่มความถี่ทำความสะอาด เพื่อลดฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้าง และควบคุมผู้รับเหมาก่อสร้าง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดฝุ่น อีกทั้งสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกษตรกรงดเผาในที่โล่ง ขอความร่วมมือประชาชนงดจุดธูป เทียน แจกหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง เปิดห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และสถานที่ต่างๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง

ส่วนระดับ 3 ปริมาณฝุ่น มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง กทม.จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้มีการ Work From Home 60% ปรับลดค่าโดยสาร เพื่อส่งเสริมการลดใช้รถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่จราจรหนาแน่นและมีมลพิษสูง บังคับกฎหมายการห้ามเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในชุมชนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ส่วนการดูแลในโรงเรียน กทม.จะให้งดกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากนอกอาคาร จัดให้มี Safe Zone เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในโรงเรียน หรืออาจงดการเรียนการสอนตามการพิจารณาของผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน หรือผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

มาถึงระดับ 4 ปริมาณฝุ่น มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เป็นสถานการณ์ฝุ่นขั้นวิกฤติ หากมีค่าสูงต่อเนื่อง 3 วัน กทม.จะบังคับใช้กฎหมายให้หยุดกิจกรรมต่างๆ และขอความร่วมมือให้มีการ Work From Home 100% เป็นต้น

ด้านการช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชน กรุงเทพมหานครมีสายด่วนสุขภาพ 1646 และคลินิกมลพิษทางอากาศ ที่พร้อมให้บริการประชาชนผ่านคลินิกมลพิษทางอากาศทั้ง 5 แห่งในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ คือ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลาง นอกจากนี้ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการติดตามคุณภาพอากาศได้ที่ @Linealert และ แอปพลิเคชัน AIRBKK เพื่อเฝ้าระวังค่าฝุ่น PM 2.5 และยังช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางก่อนออกไปทำกิจกรรมได้

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ยังคงต้องระมัดระวังสุขภาพและใส่ใจป้องกันดูแลตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น N95 หรือหน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องดูแลตัวเองและควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมการแจ้ง สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย และเตรียมยาหรืออุปกรณ์จำเป็นให้พร้อมอยู่เสมอ

มาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งสำคัญที่ย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของกรุงเทพมหานคร ที่พร้อมดูแลและช่วยเหลือประชาชนรอบด้านและครอบคลุม อีกทั้งเป็นกระบอกเสียงรับฟังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการต่อสู้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเดินหน้าต่อไปได้นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมลงมือจากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันหยุด ลด ละ เลิก เพื่อให้วิกฤติฝุ่นเบาบางและจางหายไปในที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ ที่รอวันท้องฟ้าสดใสไร้ฝุ่น และประชาชนทุกคนกลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง

#กรุงเทพมหานคร #สิ่งแวดล้อมดี #ฝุ่นละอองขนาดเล็ก