อย่าจำสับสน วันมาฆบูชา 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม ทำให้ในเดือนมีนาคม มีวันหยุดยาว 3 วัน คือ 4-6 มีนาคม เช็กเลย ธนาคาร-ไปรษณีย์ หยุดหรือไม่
"มาฆบูชา 2566" ตรงกับวันไหน
วันมาฆบูชาปี 2566 นี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตามปฏิทินวันหยุดราชการ ดังนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม จะมีวันหยุดยาว รวม 3 วัน คือ 4-6 มีนาคม 2566
"มาฆบูชา 2566" ธนาคารหยุดไหม
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงิน ในวันที่ 6 มีนาคม 2566 เป็น "วันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประจำปี พ.ศ.2566" ดังนั้นใครจะทำธุรกรรมทางการเงินต้องเช็กดีๆ
"มาฆบูชา 2566" ไปรษณีย์หยุดไหม
สำหรับไปรษณีย์ไทยนั้น ใน "วันมาฆบูชา 2566" ไม่หยุด ยังคงให้บริการ Drop Off และจัดส่ง ยกเว้นการให้บริการแบบรับพัสดุจากคลังสินค้ามาส่งศูนย์คัดแยก ดังนั้น ผู้ใช้บริการต้องตรวจสอบกับพื้นที่ไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการ ให้ตรวจสอบวันหยุดทำการขนส่งก่อนจัดส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ผัก ผลไม้ ที่อาจเกิดความเสียหายได้
...
มาฆบูชา คือวันอะไร
มาฆบูชา คือ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อันมีต้นกำเนิดมาจากประวัติของพระพุทธเจ้า ที่แสดงธรรมโอวาทปาติโมกข์ ในวันเพ็ญเดือน 3 ก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในอีก 180 วัน ประวัติวันมาฆบูชา และความสำคัญของ วันมาฆบูชา คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ในปฏิทินสากล
แต่หากปีใดมีเดือน 8 สองหน เช่นเดียวกับปี พ.ศ.2566 นี้ วันมาฆบูชา ก็จะตรงกับช่วงเดือนมีนาคม วันมาฆบูชา คือ วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ศิษยานุศิษย์ว่า "ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน" หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา 45 ปี โดยพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแสดงธรรมโอวาทปาติโมกข์
มาฆบูชา 4 เหตุการณ์สําคัญ ในวันจาตุรงคสันนิบาต
1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ
2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูป โดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่า วิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
4. วันที่มาประชุมตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์.