• Computer Vision Syndrome กลุ่มอาการผิดปกติของดวงตา ที่เกิดจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน เฉลี่ยมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
  • มีสาเหตุมาจากการกะพริบของหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัล ความสว่างของหน้าจอ และแสงสีฟ้า (Blue light) และพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ที่ไม่เหมาะสม
  • ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณรอบดวงตา ตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ โฟกัสภาพต่างๆ ได้ช้าลง รวมไปถึงปวดศีรษะ และเวียนหัวร่วมด้วย หากไม่รีบแก้ปัญหา ก็อาจจะส่งผลเสียทางสุขภาพตามมาในอนาคต

ในยุคปัจจุบัน เกือบทุกคนที่ต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อใช้ในการสื่อสาร อัปเดตข้อมูล รวมถึงใช้ในการทำงาน ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าพนักงานออฟฟิศ หรือกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงาน จ้องหน้าจอเป็นเวลานาน หากไม่แบ่งเวลาให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบให้ดวงตาเมื่อยล้าจนเกิดอาการปวดเมื่อยตา แสบหรือเคืองตา ไปจนถึงตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอ ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ

หากใครเคยมีอาการข้างต้น ยิ่งต้องระวังตัว เพราะคุณกำลังเกิดปัญหาทางสุขภาพที่เรียกว่า computer vision syndrome 

...

Computer Vision Syndrome คืออะไร

Computer Vision Syndrome หรือ (CVS) คือ กลุ่มอาการผิดปกติของดวงตา ที่เกิดปัญหามาจากมองหน้าจอเป็นเวลานานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตา โดยผลการศึกษาพบว่า 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักจะมีอาการ CVS อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นร่วมกันจนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน

Computer Vision Syndrome มีอาการอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการ Computer Vision Syndrome จะไม่ค่อยรู้ตัว มักเกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานออฟฟิศ หรือนักเรียน นักศึกษา ที่ใช้สายตาอย่างหนัก จึงเกิดอาการเหล่านี้

  • ปวดบริเวณรอบดวงตา
  • ตาแห้ง แสบตา หรือเคืองตา
  • ตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้
  • การโฟกัสภาพต่างๆ ได้ช้าลง
  • มีอาการปวดศีรษะ และเวียนหัว
  • บางครั้งอาจมีอาการปวดหลัง ไหล่ หรือต้นคอร่วมด้วย

สาเหตุของอาการ Computer Vision Syndrome

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้สายตาเพ่งหน้าจอเป็นเวลานาน โดยมีสาเหตุมาจากการกะพริบของหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัล ความสว่างของหน้าจอ และแสงสีฟ้า (Blue light)

เนื่องจากความรวดเร็วในการเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอ ทำให้เราใช้สายตาเพ่งตัวอักษรมากกว่าปกติ ประกอบกับการปรับแสงหน้าจอที่ไม่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้หน้าจอสว่าง หรือมืดมากเกินพอดี จนส่งผลให้ดวงตาอ่อนลาได้

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดวงตาเกิดปัญหามากที่สุด นั่นคือ แสงสีฟ้า คลื่นแสงที่ถูกปล่อยออกมาจากหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัล เมื่อดวงตารับแสงสีฟ้ามากเกินไป เซลล์จอประสาทตาค่อยๆ เสื่อม และอาจก่อให้เกิดโรคทางดวงตาในอนาคตได้

พฤติกรรมการทำงานที่ไม่ถูกต้อง เสี่ยงก่อให้เกิดภาวะ CVS

อาการ CVS เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการทำงานไม่ต่างจากโรคออฟฟิศซินโดรม ดังนี้ 

  • ขณะจดจ่อกับการอ่านหนังสือ หรือจ้องจอคอมพิวเตอร์ มีการกะพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งง่ายขึ้น
  • แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม ทำให้มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์กระทบเข้าดวงตา จึงทำให้รู้สึกระคายเคืองได้
  • การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เรียบคมชัด เท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ดวงตาคนต้องพยายามโฟกัสมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการตา เมื่อยล้าทางดวงตา
  • ระยะห่างจากหน้าจอไม่สัมพันธ์กับระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์
  • ท่าทางในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม

วิธีการป้องกัน

จะเห็นได้ว่าอาการ Computer Vision Syndrome เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในระยะยาว ดังนี้

  1. ปรับแสงสว่างจากหน้าจอ และความเข้มของสีหน้าจอ โดยเน้นให้มองแล้วสบายตามากที่สุด และต้องป้องกันแสงจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่สะท้อนเข้าหน้าจอ
  2. ปรับระดับของหน้าจอ และแป้นพิมพ์ให้เหมาะสม ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตา ห่างจากตัวประมาณ 20-28 นิ้ว ส่วนแป้นพิมพ์ควรวางอยู่ระดับต่ำกว่าจอ โดยให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะเอื้อมไปข้างหน้า
  3. เปลี่ยนท่านั่ง และระดับเก้าอี้ ให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น เข่าตั้งฉาก ต้นขาขนานกับพื้น อาจมีที่วางข้อศอกและแขน เพื่อลดอาการล้าที่หัวไหล่ แขน และข้อมือ
  4. พักสายตาระหว่างการทำงาน โดยยึดหลัก 20-20-20 คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต ทุกๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง เพื่อลดอาการตาล้า
  5. ใช้น้ำตาเทียม และกะพริบตาบ่อยขึ้น เพื่อลดอาการตาแห้ง
  6. ไปพบแพทย์ขอคำปรึกษา หากทำครบตามที่กล่าวข้างต้นแล้วอาการยังไม่หาย ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้

แม้ว่าหลายคนจะมองว่า โรค Computer Vision Syndrome เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตา หรือการมองเห็น แต่สุดท้ายอาการทางตาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความไม่สบายตา เป็นปัญหารบกวนการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้

และถ้ายังละเลย และไม่ใส่การดูแลตนเอง หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน อาจจะส่งผลเสียทางสุขภาพตามมาในอนาคต.