• "เมเม่" ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง เปิดใจเล่าเหตุผลที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ยืนยัน ไม่มีใครอยากท้อง เพื่อไปทำแท้ง
  • ทำไม "ทำแท้ง" ถึงเป็นประเด็นศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครๆ ก็ไม่กล้าพูด หรือออกตัวให้การสนับสนุน
  • ทำแท้งถูกกฎหมาย ช่วยให้ผู้หญิงปลอดภัยได้มากกว่า 95% 


แม้ว่า การยุติตั้งครรภ์ หรือทำแท้งถูกกฎหมายในประเทศไทยจะสามารถทำได้แล้ว แต่ก็มีข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกหลักเกณฑ์ให้คำปรึกษาในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2565 โดยได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย. 2565 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ

โดยประกาศฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาทำแท้งผิดกฎหมาย หญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

...

เหตุผลที่ต้องยุติตั้งครรภ์


วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ หญิงคนหนึ่ง ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือการเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์ ซึ่งจะมาเล่าประสบการณ์จริง หลังจากที่ครั้งนึง เธอเคยตกอยู่ในภาวะที่ถูกกดดันจากสังคม เนื่องจากท้อง และเหตุลผลที่นำไปสู่การตัดสินใจเข้ารับการยุติตั้งครรภ์

"เมเม่" (นามสมมติ) ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง เล่าว่า ระยะเวลาที่เราท้องไปจนถึงวันที่เราตั้งใจจะยุติการตั้งครรภ์ เดินไปที่โรงพยาบาล รวมแล้วประมาณ 5 เดือน ซึ่งนานมาก เพราะตอนที่เราทำตอนนั้นกฎหมายยังไม่ผ่าน สังคมโหดร้ายกับเรา การตีตราเราว่าเป็นคนไม่ดี ไม่ต้องพูดถึงสังคมเลย แม้แต่ตัวเราเองที่จะไปเข้ากระบวนการทำแท้งมันก็กดดันแล้ว มันไม่มีใครอยากทำ มีคำนึงที่พูดว่า กฎหมายผ่านแล้ว คนก็ไปทำแท้งเยอะสิ มันไม่มีใครอยากท้องเพื่ออยากที่จะไปทำแท้ง การทำแท้งมันมีความรู้สึกลึกๆ ในหัวใจอยู่แล้วว่ามันจะต้องเจ็บหรือเปล่า เราทิ้งเวลานานมาก ไม่มีอะไรเลย มีแค่คนที่รู้จักพอจะเข้าถึงบ้าง เพราะเขามีความรู้

ช่วงประมาณท้องได้ 4-5 เดือน ยังคิดว่าจะต้องท้องจนให้คลอดด้วย แต่ตัดสินใจไปทำอยู่ดี ต่อให้มีช่วงความคิดนึงที่อยากเก็บเอาไว้

วันนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าเลือกที่จะไม่ทำแท้ง

เมเม่ บอกว่า ถ้าวันนี้เราเก็บเขาไว้ คิดว่าสิ่งที่เราจะเสีย คือ สุขภาพจิต ที่สุขภาพจิตเราแย่ คือ เครียด หาเงินอย่างไรดีในแต่ละวัน เพราะเราโตมาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม พ่อแม่เราไม่มีเงินส่งให้เราเรียนหนังสือ เราต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ไม่มีเงินเท่ากับไม่มีเวลา เพราะชีวิตเราต้องหาเงินตลอดเวลา เราหาเช้ากินค่ำ ต้องขายของ หาเงินสำรองให้ลูกไปเรียนหนังสือแล้วนะ ไม่ใช่แค่เลี้ยงไปวันๆ ให้มันจบ มันต้องใช้คำว่า ความรับผิดชอบที่เราเลือกให้เขาเกิดมันค้ำคอ เราจึงตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ดีกว่า เราไม่สามารถเลี้ยงชีวิตนึงได้ดีเท่าที่เขาควรจะได้รับ

สุไลพร ชลวิไล กลุ่มทำทาง ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือการเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์
สุไลพร ชลวิไล กลุ่มทำทาง ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือการเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์

"ทำแท้ง" ประเด็นศักดิ์สิทธิ์

คุณสุไลพร ชลวิไล กลุ่มทำทาง ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือการเข้าถึงการยุติตั้งครรภ์ เปิดเผยถึงคำกล่าวที่ว่า ทำแท้ง เป็นประเด็นศักดิ์สิทธิ์ มองว่า เพราะไม่มีคนกล้าพูด นักการเมืองต่อให้สนับสนุน ก็ไม่กล้าพูด เนื่องจากกลัวเสียคะแนน ดาราคนไหนกล้าพูดเรื่องทำแท้งบ้าง โดยเฉพาะในสังคมที่กดทับผู้หญิง สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ คนที่ออกกฎหมาย ผู้ชายเหล่านี้เคยท้องหรือเปล่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมองเรื่องทำแท้งว่าไม่ถูกต้อง หมอที่ให้บริการทำแท้งไม่ใช่หมอที่ได้รับการยกย่องนะ หมอด้วยกันเองก็ว่าเขา สังคมก็ว่าเขา เขาก็ไม่อยากจะเปิดให้ตัวเองโดนว่า

คุณสอนเพศศึกษาอย่างไร เรายังนับอายุครรภ์ไม่เป็น สิทธิก็ไม่รู้ สถานบริการอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เรื่องทำแท้งก็พูดกับใครไม่ได้ มันยากไปหมด กว่าคุณจะเข้าถึงบริการเหล่านี้ ดังนั้น การที่จะพูดว่า สนับสนุนเรื่องการทำแท้ง มันจึงเป็นประเด็นศักดิ์สิทธิ์

ภาพจากเฟซบุ๊ก : คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง
ภาพจากเฟซบุ๊ก : คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง

ทำแท้งเป็นเรื่องธรรมดา

คุณสุไลพร เผยว่า เราไม่เคยตั้งคำถามว่า คนที่อุ้มท้อง เขาต้องทนอะไรอยู่กี่เดือน เขาต้องยืน ต้องปวดหลัง เข้าห้องน้ำลำบาก แค่นี้ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว ที่คนคนนึงจะไม่อยากท้อง สุดท้ายก็คือว่า การทำแท้งเป็นบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น และเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก มันเป็นบริการปกติที่เกิดขึ้นในคลินิก เป็นเรื่องธรรมดามากๆ และต้องมีความปลอดภัยมากๆ

การทำแท้งโดยการใช้ยามีความปลอดภัยมากกว่า 95% โอกาสที่คุณจะเป็นเหมือนในหนัง ตกเลือด มันเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น จริงๆ แล้วประเทศไทยทำแท้งปลอดภัยได้ทุกอายุครรภ์ และมีระบบสนับสนุนค่าใช้จ่าย มีคนคอยช่วยอยู่ แต่มันจะดีมากกว่านี้ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจทำเรื่องนี้ให้มันดีกว่านี้.

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Varanya Phae-araya