เปิดปากกับภาคภูมิ ไขข้อสงสัยกรณีสามีภรรยาขายส้มตำ รับสายมิจฉาชีพ ไม่ได้กดลิงก์ กลับถูกดูด 3.6 แสนบาท เกลี้ยงบัญชี เป็นไปได้ไหม

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้พูดคุยกับ นายสมาน ใจหาญ อายุ 40 ปี พร้อมด้วยนางสาวมัสยา สุวรรณสนธิ์ อายุ 36 ปี ภรรยา บ้านอยู่ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จากกรณีรับสายแล้วถูกดูดเงิน 3 แสน เกลี้ยงบัญชี 

ทั้งนี้ นายสมาน เล่าว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีสายโทรเข้ามา ภรรยาจึงรับสายแล้วถามว่าโทรมาจากไหน อีกฝ่ายเป็นเสียงผู้ชายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร จ.ฉะเชิงเทรา ถามภรรยาว่า จำได้ไหมว่าเคยขายส้มตำอยู่ที่บางบัว และจำได้ไหมว่าเคยโหลดแอปฯ ถุงเงิน ซึ่งภรรยาก็ตอบว่าใช่ และข้อมูลที่เขาถามมาก็ถูกต้องทั้งหมด ปลายสายยังถามอีกว่า เบอร์นี้แอดไลน์ได้ไหม ภรรยาก็ตอบว่า ใช่ค่ะ

นางสาวมัสยา เล่าว่า หลังจากตอบว่าใช่ สักพักมีไลน์เด้งมาให้กดเพิ่มเพื่อน หลังจากกดรับเพื่อนในไลน์แล้ว ก็มีข้อความเด้งมาเป็นชื่อของตน เขียนถูกต้อง แต่ไม่มีลิงก์อะไร สักพักเขาได้โทรผ่านไลน์มา เมื่อตนกดรับสายก็ทักทายไปว่า "สวัสดีค่ะ"

...

จากนั้นหน้าจอโทรศัพท์ก็ค้าง หน้าจอขึ้นเป็นหน้าโลโก้ของกรมสรรพากร มีปุ่มเขียนว่า "คลิกเพื่อเปิดใช้งาน" ซึ่งตนได้พยายามกดออก แต่หน้าจอมือถือค้าง ไม่สามารถทำอะไรได้ประมาณ 10 นาที ระหว่างนี้ก็มีแจ้งเตือนจากธนาคารว่ามีเงินออกจากบัญชี 3.6 แสนบาท ตนตกใจจึงตะโกนบอกสามีที่กำลังเตะตะกร้ออยู่

นายสมาน เล่าต่อว่า หลังเกิดเรื่องได้สอบถามภรรยาว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นได้พากันไปแจ้งความ ระหว่างนั้นได้โทรสอบถามทางธนาคารด้วย ซึ่งธนาคารบอกว่ามีเงินออกจริง และให้เราดูว่าบัญชีปลายทางที่โอนเงินไปว่าชื่ออะไร ต่อมาทราบว่าเป็นบัญชีพร้อมเพย์ หลังจากแจ้งความแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องแล้วส่งข้อมูลไปที่ธนาคารเพื่อดำเนินการ วันรุ่งขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์มาขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่พบว่ามีความผิดปกติ ภรรยาเองก็ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยกดลิงก์แปลกๆ

นางสาวมัสยา เล่าว่า เงินจำนวน 3.6 แสนบาท ไม่ใช่เงินเก็บ แต่เป็นเงินที่กู้มาเพื่อเปิดร้านใหม่ที่ จ.ชลบุรี และเงินที่กู้มาเป็นเงินในระบบ ไม่ใช่การกู้นอกระบบ

ขณะที่ ทนายรณรงค์ แก้วเพชร กล่าวว่า แนะนำให้นำโทรศัพท์ไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง และคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการเรื่องความปลอดภัยทางการเงิน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคมาออกสื่อแล้วทำอะไรไม่ได้ ลูกค้าจ่ายเงินค่าธรรมเนียมตรงเวลา แต่เวลาลูกค้ามีปัญหากลับต้องทำเรื่องต่างๆ เอง

ส่วนตัวแนะนำว่า อยากให้มีมาตรการหลังเกิดเรื่อง หากมีการแจ้งเรื่องลักษณะนี้อย่างน้อยธนาคารควรแช่ฟรีซ หรือชะลอเงินประมาณ 1 ชม. น่าจะช่วยได้หากเป็นมิจฉาชีพ แต่หากคนแจ้งมีเจตนากลั่นแกล้งค่อยเอาผิดทีหลังก็ได้ หากถามว่าจะได้เงินคืนไหม เรื่องนี้ต้องฟ้องธนาคาร เพราะคิดว่าเงินถูกโอนไปต่างประเทศแล้ว แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ถือว่าได้ทวงแล้ว

ด้านอาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ให้ความรู้ว่า ตนยังไม่เห็นโทรศัพท์มือถือที่เกิดเหตุ แต่ขอเดาว่าผู้เสียหายอาจโดนมาก่อนหน้านี้แล้ว แบบที่เราไม่รู้ตัว เพราะการที่จะรับสายแล้วเงินออกแทบจะเป็นไปไม่ได้

และข้อมูลของเราส่วนใหญ่หลุดออกไปหมดแล้ว ตอนนี้มีหลายหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนข้อมูลรั่ว แต่เขายังไม่รู้ตัว ซึ่งมี 2 แบบ คือข้อมูลรั่วแล้วไม่รู้ตัว และรู้ตัวและพยายามแก้ไข ทราบว่ามีการนำข้อมูลไปขายในดาร์กเว็บ เมื่อมิจฉาชีพมีข้อมูลแล้วก็จะปฏิบัติการ

เมื่อมีสายโทรมาอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐโทรมา เราต้องคิดก่อนว่า ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐเขาว่างขนาดนั้นเลยเหรอ ทุกวันนี้ประชาชนไปติดต่อยังต้องรอคิวเลย คิดว่าเจ้าหน้าที่หน้ารัฐไม่ได้ว่างขนาดนั้นไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ดังนั้นเราต้องตั้งสติ หรือโทรกลับไปหาหน่วยงานนั้นๆ เพื่อตรวจสอบว่าจริงหรือไม่

ในส่วนที่รับสายแล้วเครื่องค้าง แนะให้ปิดเครื่อง แต่ปัญหาของโทรศัพท์สมัยนี้ถอดแบตไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องไปศึกษาว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่มีปุ่มลัดเพื่อรีเซตเครื่องต้องกดปุ่มอะไร จากนั้นต้องไม่ต่อ WIFI ถอดซิมออก อย่าออนไลน์เด็ดขาด ย้ายข้อมูลสำคัญไปที่อื่น แล้วกดคืนค่าเหมือนเพิ่งออกมาจากโรงงาน

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" พร้อมกันได้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป ได้ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.