สาวโวยเรียก 1669 หลังแฟนป่วย หายใจติดขัด แต่เจ้าหน้าที่รับสายบอกให้กินยานอน ด้าน สสจ.ตั้งโต๊ะชี้แจงการให้บริการผู้ป่วยระดับต่างๆ รับรถไม่พอ ขอโทษไม่ได้โทรกลับไปแจ้ง
วันที่ 21 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปขณะกำลังนำคนป่วยลงจากรถตู้ โดยมีข้อความบรรยายว่า แฟนของตนเองตัวร้อนมาสองวัน ทานข้าวไม่ได้ อาเจียน และเราก็ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเขาเป็นอะไร จึงไปซื้อยามาให้กิน แต่ไม่ดีขึ้น จนเมื่อคืนที่ผ่านมาประมาณตี 2 เขาหายใจติดขัด เราก็พยายามติดต่อไปที่ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอรถพยาบาลมารับ และสิ่งที่ได้คำตอบคือเขาบอกว่าเป็นไข้ก็กินยานอนพักนะคะ รถเรามีจำกัด เอาไว้รับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ถ้าแฟนเราไปโรงพยาบาลไม่ทันคือ ไปแล้ว คือสรุปเป็นโรคไข้เลือดออก เราก็ไม่เข้าใจว่าเขามีเบอร์ฉุกเฉินไว้ทำไม แล้วอันไหนที่เรียกว่าฉุกเฉิน
ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับเจ้าของคลิป คือ นางสาวหงส์ฤดี คำเจริญ อายุ 30 ปี และ นายพิทักษ์ ชุลีธรรมวงศ์ อายุ 35 ปี แฟนหนุ่ม ซึ่งป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยทางแพทย์ได้อนุญาตให้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านพักเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา
...
นางสาวหงส์ฤดี เล่าว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ม.ค. แฟนของตนเองไม่สบายมา 2 วัน จึงไปซื้อยามาให้กิน แต่ไม่ดีขึ้น จึงได้สังเกตอาการ พบว่าไข้ไม่ลด และกินข้าวไม่ได้ หายใจติดขัด ตนจึงได้โทรไปขอรถพยาบาลหน่วยงานแรก ซึ่งเขาได้แจ้งว่าไม่ใช่เวรเขา จากนั้นจึงโทรไปอีกหน่วยงานคือศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งมีผู้ชายรับแจ้งว่า จะรับเรื่องเอาไว้ ให้เรารอก่อน
กระทั่งผ่านไปนานพอสมควร แฟนอาการเริ่มจะไม่ไหว ตนจึงได้โทรกลับไปสอบถามที่ 1669 อีกครั้ง ปรากฏเป็นผู้หญิงรับสาย ตนจึงแจ้งรายละเอียดทั้งหมดไปว่า แฟนมีอาการอย่างไร และว่าอาการเริ่มไม่ไหวแล้ว ขอให้รถพยาบาลมารับได้ไหม ซึ่งทางผู้หญิงคนดังกล่าวได้แจ้งว่า แฟนตนคงเป็นไข้ ให้กินยารักษาตัว ซึ่งตนก็แย้งไปว่า เขากินยามา 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น เขาก็ตอบกลับมาว่า รถเราไม่ได้มีรถเอาไว้รับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด และจะรับคนไข้เคสฉุกเฉินเท่านั้น ตนจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน ก่อนรีบนำตัวแฟนส่งโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งพอถึงโรงพยาบาลแฟนก็หมดสติไปเลย โดยแพทย์ได้ทำการตรวจแล้วแจ้งว่าแฟนของตนเองเป็นไข้เลือดออก
ดังนั้นตนเองอยากจะฝากถามถึงหน่วยงานดังกล่าวว่าคำนิยามของคำว่า "ฉุกเฉิน" คืออะไร และหากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไปเกิดกับตัวคุณหรือญาติพี่น้องคุณ จะเรียกนิยามคำว่าฉุกเฉินว่าอย่างไร อีกทั้งทำไมเราถึงเรียกรถฉุกเฉิน ก็เพราะว่ารถฉุกเฉินมีเครื่องมือทางการแพทย์ครบทุกอย่างไม่เหมือนกับรถทั่วไป และหากเราเรียกรถทั่วไปเกิดมีผู้เสียชีวิตในรถขึ้นมาจะทำอย่างไร
ขณะที่เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ที่ห้องประชุมรัตตอุบล ชั้น 7 รพ.ปทุมธานี ได้มีการแถลงข่าวชี้แจงการให้บริการ 1669 โดยมี นพ.ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นพ.อภิชน จีนเสวก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นพ.ยรรยง เสถียรภาพงษ์ รองผู้อำนวยการด้านนโยบาย รพ.ปทุมธานี พญ.สุริศา ลาภเอกอุดม หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ปทุมธานี
นพ.ภุชงค์ ในฐานะผู้ดูแลระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า การที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวระบุว่า "ผู้ป่วยอาการหนักโทร 1669 เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้หายากินแล้วนอนพัก ก่อนให้เพื่อนบ้านมาส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ก่อนตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออก" ขอชี้แจงว่า สายด่วน 1669 เป็นสายด่วนที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาล โดยสายด่วน 1669 เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ หรือเข้าข่ายอาการแบบไหน ก่อนที่จะส่งทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ
ซึ่งแบ่งอาการฉุกเฉินออกเป็น 6 กลุ่มอาการ คือ 1.หัวใจหยุดต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียก หรือกระตุ้น ต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2.การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลาสถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดเฉียบพลัน 3.ระบบหายใจมีวิกฤติ เช่น หายใจเร็วแรง และลึกเป็นต้น 4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติ เช่น ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกท่วมตัว เป็นต้น 5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง ชักเกร็ง เป็นตัน
ส่วนในประเด็นที่มีข่าวตามสื่อออกไปนั้น โดยระบุว่า
1.เมื่อรับสายตอนตี 2.30 น. ทางเจ้าหน้าที่ตีประเมินอาการตีเป็นแค่เคสสีเขียว เลยไม่ได้ส่งรถออกไปรับ
2.ตอนรับสายเวลา 3.30 น. ทางศูนย์รับแจ้งว่ามีอาการไข้และอาการไม่มีแรง คนไข้หมดแรงทางเจ้าหน้าที่ตีเป็น (กลุ่มอาการนำ ป่วยอ่อนเพลีย ไม่จำเพาะไม่ทราบสาเหตุ) ตีเป็นเคสสีเหลือง (ผู้ป่วยทั่วไปแต่ไม่จำเป็นต้องมีการกู้ชีพ / รักษาทันที) จึงให้ประสานรถเบสิคกับ FR ออกไปรับ แต่ไม่มีรถ จุดนี้ต้องขอโทษประชาชนหรือญาติผู้ป่วย เนื่องจากไม่มีรถของอาสาฯ หรือมูลนิธิในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้โทรกลับไปแจ้ง
3.กรณีรถ ALS (Advance Basic Life Support) จะให้รถออกรับเฉพาะเคสวิกฤติฉุกเฉิน (สีแดง) เท่านั้น และหากกรณีส่งรถออกรับเคสเร่งด่วน (สีเหลือง) แล้วถ้ามีผู้ป่วยเคสสีแดง เกิดขึ้นระหว่างนั้นจะเกิดข้อร้องเรียนได้อีกแบบหนึ่ง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ตระหนักดีว่า 1669 เป็นสายด่วนที่ให้บริการกับประชาชนที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินและวิกฤติ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่จังหวัดปทุมธานียังมีหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงต้องอาศัยการดูแลจากมูลนิธิกู้ชีพ ซึ่งก็มีจำนวนรถไม่เพียงพอกับการใช้บริการของประชาชน เพราะพื้นที่จังหวัดปทุมธานีมีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องออกให้บริการโดยเฉลี่ย 1,000 รายต่อวัน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีไม่ได้นิ่งนอนใจ
ในปีงบประมาณ 2566 ได้มีการวางแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงต่อไป.