ฟังอีกมุม "กองถ่าย" โต้ดราม่าใช้พื้นที่ "สระมรกต" จ.กระบี่ ยันไม่เคยไล่นักท่องเที่ยว ยอมรับมีส่วนที่ยื่นลงไปในสระจริง แต่มีฐานรองไม่กระทบธรรมชาติ 

วันที่ 10 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกระแสดราม่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้เผยภาพกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณาสินค้าของเกาหลีใต้ เข้าใช้พื้นที่ของ "สระมรกต" แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.กระบี่ ทั้งยังมีการติดตั้งเสาในสระน้ำ ทำให้หลายคนที่เห็นภาพรู้สึกไม่สบายใจ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อธรรมชาติภายในสระ ซึ่งต่อมา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ได้ชี้แจงว่า ทางกองถ่าย ได้ขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่ของ "สระมรกต" และยืนยันว่า การถ่ายทำไม่กระทบธรรมชาติ

จากการสอบถาม ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าว เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่เกิดจากบางคนที่ไม่พอใจ สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 8 มกราคม เป็นวันซ้อมก่อนถ่ายทำจริง ซึ่งทางทีมงานเคยถ่ายทำในเขตอุทยานแห่งชาติบ่อยมากจึงรู้กฎระเบียบ

ก่อนทีมงานจะขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ ได้เข้าพูดคุยกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อย่างละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง ยอมรับว่ามีส่วนที่ยื่นลงไปในสระจริง ซึ่งเป็นเหล็กไปป์ หรือเหล็กท่อ แต่เราได้สำรวจพื้นสระแล้ว พบว่าเป็นหินปูนที่มีความแข็งแรง

และตอนที่นำไปป์ลงไปก็มีเท้าช้าง ที่มีลักษณะเป็นแผ่นสวมแกนเหล็กเข้าไป ซึ่งเท้าช้างจะมีขนาดใหญ่ ช่วยกระจายน้ำหนัก แล้วในรูปที่เขาถ่ายวันที่ 8 มกราคม เป็นแค่วันซ้อมจึงมีส่วนที่ยื่นลงไปยาวกว่าวันถ่ายจริง โดยวันถ่ายจริงมีส่วนยื่นลงไปประมาณ 70 เซนติเมตร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปไว้ และตอนนี้ทางทีมงานก็ได้เก็บอุปกรณ์ออกจากพื้นที่แล้ว ยืนยันว่า การถ่ายทำในครั้งนี้ไม่กระทบต่อธรรมชาติ เพราะมีเจ้าหน้าที่มาสำรวจ ตรวจทุกจุดว่าไม่มีอะไรเสียหาย

...

ส่วนเรื่องที่มีการไล่นักท่องเที่ยวออกมานั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาได้ปกติ ในวันถ่ายทำจริง ทีมงานได้ประกาศขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวให้ช่วยขยับหลบมุมกล้อง เป็นการขอความร่วมมือเป็นบางช่วงเท่านั้น ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ในวันซ้อมเราไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่ให้นักแสดงทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ ใช้เวลาซ้อมประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในวันนั้นมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเยอะมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่กลับมีบางคนตั้งใจสร้างเรื่อง เข้ามาเก็บรูปรายละเอียด ซึ่งปกติแล้วทางทีมงานจะแจ้งรายละเอียดก่อนเข้าไปถ่ายทำอยู่แล้ว เช่น มีทีมงานกี่คน มีการขอตั้งเต็นท์ทานอาหาร ซึ่งตนไม่รู้ว่าเขามีปัญหาอะไรกับเรา คำว่า “ชาวบ้านรู้สึก” จึงใช้ไม่ได้ เพราะเราติดต่อกับชาวบ้านตลอด มีการสั่งข้าวกล่อง สั่งน้ำจากชาวบ้านแถวนั้น ทุกคนไม่มีปัญหาเลย เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการมีปัญหากับแค่คนหนึ่งคนเท่านั้น ไม่ใช่ชาวบ้านทั้งหมด.