• เรื่องเล่าจากปากผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนที่ถูกจองจำในคุกกับสารพัดความกังวลหากอยู่ที่นี่จะไม่ได้รับสิ่งดีๆ ของที่มีประโยชน์ หรือสิทธิต่างๆ ที่เด็กทารกคนหนึ่งควรจะได้

  • ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนมีเวลาได้เลี้ยง และกอดลูกน้อยเพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น เมื่อลูกอายุ 1 ขวบ กรมราชทัณฑ์จำเป็นต้องส่งต่อให้ญาติไปเลี้ยงดูหรือไม่ก็ส่งต่อมูลนิธิ ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

  • "มูลนิธิบ้านพระพร" หนึ่งในที่พึ่งพิงผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน ฝากลูกเอาไว้ที่นี่เมื่อพ้นโทษก็หวังจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกที่ถูกลืม

สังคมยุคปัจจุบัน มีวิธีการสื่อสารได้หลายช่องทางเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แม้จะอยู่กันคนละมุมโลกก็ทำให้เราได้ใกล้ชิดกัน แต่มีเพียง "เรือนจำ" เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการยกเว้น เพราะทุกการสื่อสาร รวมไปถึงการใช้ชีวิตนั้นต้องอยู่ในกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำได้เรียนรู้ และสำนึกในความผิดที่เคยกระทำทั้งตั้งใจก็ดี หรือไม่ตั้งใจก็ดี ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

สำหรับเรื่องราวที่ "ไทยรัฐออนไลน์" จะเผยแพร่ต่อไปนี้ ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ที่อยู่ด้านในเรือนจำ และนำเรื่องราวเหล่านี้ ออกมาเผยแพร่เพื่อเป็นคติสอนใจให้กับใครหลายคนที่อยู่ในสังคมนี้

...

เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาด้านใน "เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง" จากความคิดของคนภายนอกที่เชื่อว่า ภาพด้านในคงไม่ต่างจากละครที่เราเคยดู ที่ให้ความรู้สึกโหดร้าย น่ากลัว และสกปรก แต่เมื่อได้ก้าวขาเข้าไปจริงๆ ความรู้สึกแรกกลับไม่เหมือนภาพที่เราคิดไว้ ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง ที่มีผู้คุม มีกฎระเบียบ คอยสอนให้คนผิดได้กลับตัวกลับใจ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เพื่อเป็น "โอกาส" ในการปรับปรุงตัว ถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนจากที่นี่ ต้องการหลังจากพ้นโทษออกไป

นอกจากผู้ต้องขังหญิงทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มผู้ต้องขังที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วยคือ ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน โดยครั้งนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ "คุณผึ้ง" แม่ลูกอ่อนที่ต้องใช้ชีวิตช่วงตั้งท้อง กระทั่งคลอดลูกในเรือนจำแห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันสิ่งต่างๆ มาทั้งน้ำตา พร้อมเปิดใจเล่าบทเรียนชีวิตครั้งนี้ให้ฟัง

"อยู่ที่นี่มา 1 ปีแล้ว" คุณผึ้งเริ่มเล่าด้วยสีหน้าเครียดเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตัวเองท้องกี่เดือน รู้แค่ว่าตัวเองท้อง แล้วก็โดนจับเข้าคุก เครียด คิดว่าจะอยู่ที่นี่ได้ไหม แต่ก็คิดว่าเราไม่ได้ทำผิด เดี๋ยวก็ได้กลับบ้าน ไปคลอดลูกข้างนอก ซึ่งในใจคิดแบบนั้น แต่พอศาลตัดสิน ทำให้ต้องยอมรับและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ย้อนไปในวันที่กำลังจะเข้าเรือนจำ ตอนนั้นกลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ กลัวว่าจะต้องคลอดลูกในคุก แล้วก็เลี้ยงในคุก แม้แต่ช่วงที่กำลังตั้งท้องก็เครียดว่า อยู่ในนี้จะมีของบำรุงไหม มีนมให้ลูกกินหรือเปล่า ถ้าลูกคลอดออกมาแล้วตัวเล็ก ตัวเหลือง ต้องทำยังไง มีสารพัดเรื่องที่กลัวจนทำให้เครียด

แต่พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำจริงๆ ก็มีคุณหมอ คุณพยาบาล และทีมพี่เลี้ยงช่วยดูแลตลอด รวมทั้งยังมีเพื่อนๆ แม่ลูกอ่อนคอยเป็นกำลังใจ ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้คลอดลูกในเรือนจำ วันที่คลอดลูกเจ้าหน้าที่และพยาบาลพาไปคลอดโรงพยาบาลข้างนอก จำได้ว่าวันนั้นเจ็บท้องใกล้คลอด ก็แจ้งพยาบาลที่อยู่ในเรือนจำว่าปวดท้อง จากนั้นเขาก็มาดูว่ามดลูกเราเปิดกี่เซนแล้ว สามารถออกไปคลอดได้หรือยัง เมื่อปากมดลูกเราเปิดใกล้คลอดเขาก็พาเราไปโรงพยาบาล เมื่อคลอดเสร็จ ลูกกับแม่ไม่มีภาวะเสี่ยง เขาก็พากลับมาพักฟื้นดูแลที่เรือนจำทันที

แม้จะเป็นการคลอดลูกครั้งที่ 3 แต่ความแตกต่างระหว่างการคลอดลูกคนก่อนๆ กับลูกคนนี้ คือครั้งนี้เรามีสถานะเป็น "นักโทษ" เมื่อคลอดลูกเสร็จก็จะไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้ใกล้ชิดแพทย์พยาบาลเหมือนครั้งก่อนๆ แถมรู้สึกเครียดอีกว่า ลูกจะเป็นอะไรไหม ถ้าสมมติลูกไม่สบาย จะมีพยาบาลช่วยดูแลหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริง มีพยาบาลคอยดูแลตลอด 

หลังจากคลอดแล้วเห็นหน้าลูก ก็มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปมากขึ้น ชีวิตประจำวัน คือ ช่วงเช้าพอถึงเวลาเปิดห้องขัง จะพาลูกลงมาที่ห้องเด็ก เป็นห้องที่ไว้ให้แม่ลูกอ่อนพาลูกมาเลี้ยง โดยจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วย จากนั้นก็ไปทำหน้าที่ตัวเอง คือ กวาดถู เช็ดกระจก แล้วพาลูกไปอาบน้ำแต่งตัว โดยดูแลลูกไปด้วยทำงานไปด้วย ถ้าเขาไม่ได้งอแง เราก็ไปทำตามหน้าที่ต่อ พอช่วงกลางคืนก็พาเข้านอน ซึ่งจะได้อยู่กับลูกตลอดเวลา

พี่เลี้ยงคอยช่วย ระหว่างที่ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน ต้องไปทำหน้าที่ตัวเอง
พี่เลี้ยงคอยช่วย ระหว่างที่ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน ต้องไปทำหน้าที่ตัวเอง

ได้นอนกอดลูกแค่เพียง 12 เดือน

ลูกสามารถอยู่กับเราที่นี่ได้จนถึงอายุ 1 ขวบเท่านั้น หลังจากนั้นต้องส่งเขากลับบ้าน ถ้าใครมีญาติก็จะมารับไปเลี้ยง แต่ถ้าไม่มีญาติ ก็จะต้องส่งไปอยู่มูลนิธิบ้านพระพร เพื่อรอแม่พ้นโทษออกไปรับ ส่วนแพลนของเรา พอลูกอายุครบ 1 ขวบ ทางบ้านก็จะมารับไป หลังจากนั้นคงไม่กังวล เพราะลูกได้ออกไปอยู่กับพ่อ คงจะดูแลดีกว่าเราที่อยู่ในนี้

ตลอดช่วงเวลาที่ลูกอยู่กับเรา เขาเป็นเหมือนกำลังใจ พอเห็นหน้าลูกก็รู้สึกเวลาผ่านไปเร็ว ทำให้ไม่ท้อ เหมือนเป็นเพื่อนอีกคนที่อยู่กับเราในนี้ ส่วนครอบครัวอยู่ไกล แม่เราก็ได้เห็นหน้าหลานผ่านทางวิดีโอคอล เขาบอกว่าหลานอ้วนมาก แล้วก็บอกให้เราดูแลตัวเองดีๆ เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว ถือเป็นประโยคแรกที่ทำให้คุณผึ้งถึงกับหลุดหัวเราะ แล้วยิ้มอย่างมีความสุขเมื่อได้พูดถึงแม่ของเธอ

หลังจากส่งลูกออกไปอยู่ข้างนอก ตอนแรกกังวลว่าลูกจะถูกเพื่อนล้อไหม แต่คุยกับแฟนแล้วว่า ถ้าลูกถามก็ต้องบอกตามความจริง ว่าเราเลี้ยงเขาอยู่ในนี้ แต่แม่ก็เลี้ยงเหมือนอยู่ที่บ้าน ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา ไม่ได้ลำบากอะไร ทุกคนมีสิทธิพลาดได้ ซึ่งเราต้องพูดให้ลูกเข้าใจ

"ในใจลึกๆ กลัววันที่ลูกจะไม่อยู่กับเรา เพราะที่ผ่านมาในวันที่เรารู้สึกแย่ยังมีลูกให้กอด แต่ถ้าวันที่ลูกต้องออกไปอยู่ข้างนอกแล้วนั้น เราก็จะต้องทำใจให้ได้ เพราะเราก้าวพลาดมาแล้ว ฉะนั้นก็จะต้องเข้มแข็ง ต้องอยู่ให้ได้"

อยู่กับลูกแค่เพียง 12 เดือน
อยู่กับลูกแค่เพียง 12 เดือน

จดหมายจากญาติๆ คือ ยาชูกำลังให้เราได้สู้ต่อ

คุณผึ้ง เล่าให้เราฟังต่อว่า ตอนนี้เราอยู่กับลูก ไม่มีรายได้อื่น นอกจากเงินที่ทางบ้านส่งมาให้เดือนละ 500 บาท ตอนแรกที่ได้เงินมาเดือนละ 500 บาท คิดหนักเหมือนกันว่าต้องใช้ยังไง เพราะตอนอยู่ข้างนอกใช้แป๊บเดียวก็หมด แต่พอมาอยู่ในนี้ เงิน 500 เหมือน 50,000 ต้องประหยัด ใช้ซื้อสิ่งของที่จำเป็นที่สุด เช่น สบู่, ยาสีฟัน, แปรงสีฟัน, ยาสระผม, ผงซักฟอก ซึ่งราคาเท่ากันกับข้างนอก แต่บางเดือนทางเรือนจำจะแจกของใช้ให้ฟรี ทำให้ประหยัดไปได้อีก รวมทั้งมีข้าวให้ 3 มื้อ เช้า, กลางวัน, เย็น ส่วนพวกผ้าอ้อมสำเร็จรูป, แป้ง, เสื้อผ้าสำหรับเด็กนั้น เรือนจำมีสวัสดิการให้ครบทุกอย่าง ซึ่งจริงๆ มันต่างจากที่เราคิด เขาทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้านจนหายกังวล

ทุกวันนี้ก็ยังรอจดหมาย รอการเยี่ยมญาติจากทางบ้าน รอเหมือนเดิมทุกวัน ซึ่งเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลย ต้องรอฟังประกาศชื่ออย่างเดียว มีท้อบ้าง ร้องไห้บ้าง แต่ก็ต้องอดทน ถ้าเดือนไหนมีวันหยุดยาว ต้องรอนานหน่อย เพราะจดหมายที่จะเข้ามาต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจก่อนจะมาถึง บางทีต้องรอเป็นเดือน แต่เราก็เขียนจดหมายทุกอาทิตย์ ซึ่งที่นี่เขียนจดหมายได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ไม่มีอาทิตย์ไหนที่ไม่เขียน โดยเขียนได้แค่ 15 บรรทัด แต่ละอาทิตย์ต้องเลือกว่าจะเขียนหาใคร ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ จะนั่งรอว่าจะได้จดหมายเยี่ยมญาติไหม จะได้รับจดหมายจากใครหรือเปล่า สิ้นสุดประโยคนี้เริ่มทำให้เธอน้ำตาคลอ

จากใจของ "ผู้ต้องขัง" อยากฝากข้อคิดให้คนอื่น

หลังจากเข้ามาอยู่ข้างในเรือนจำ ชีวิตเราเปลี่ยนไปเลย ตอนอยู่ข้างนอกเราเป็นคนใจร้อน ไม่ค่อยฟังใคร เชื่อแต่ตัวเอง แต่พอมาอยู่ในนี้ ใจเย็นมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น จะทำอะไรก็จะคิดมากขึ้น ชีวิตหลังกำแพงทำให้เราคิดอะไรได้หลายอย่าง พร้อมฝากถึงทุกคนที่อยู่ข้างนอกและในเรือนจำ การคบเพื่อนหรือคบคนใกล้ตัว อย่าเชื่อใจมากเกินไป ทุกคนสามารถผิดพลาดได้ ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ถ้ารู้ตัวว่า ก้าวเข้าไปในสิ่งที่ไม่ดีแล้วให้รีบถอยหลังกลับมา แต่หากผิดพลาดไปแล้ว ก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ เมื่อสิ้นสุดประโยคสุดท้ายที่ได้คุยกัน คุณผึ้งก็ได้ยิ้มหวานให้อย่างจริงใจ แม้ในแววตาเธอจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงและมีน้ำตาคลอ 

การดูแล "ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน"

น.ส.ภัทราพร จันทร์เจริญ หรือ คุณเอม นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติหน้าที่ เล่าว่า ขั้นตอนการดูแลผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พวกเขาเป็นผู้ต้องขังกลุ่มพิเศษ โดยผู้ต้องขังกลุ่มพิเศษ คือ ผู้ต้องขังตั้งครรภ์, แม่ลูกอ่อน, สูงอายุ, พิการ, ติดเชื้อ HIV ซึ่งจะได้รับการแยกตัวเพื่อรับการดูแลที่เหมาะสม เพราะมีความเฉพาะทางมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่แตกต่างกันไปตามบริบทของกลุ่มนั้นๆ เช่น แม่ลูกอ่อน ต้องดูแลการตั้งครรภ์ ดูแลพัฒนาการเด็กในท้อง ฯลฯ

สำหรับผู้ต้องขัง ก่อนเข้ามาอยู่ที่เรือนจำ จะต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อหาสารเสพติดและการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าผลออกมาว่าตั้งครรภ์ ภายในเรือนจำจะมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปพูดคุย เพื่อให้มีการเตรียมตัว และจะแยกโซนอยู่อาศัยออกมาจากผู้ต้องขังทั่วไป ป้องกันการถูกผู้ต้องขังคนอื่นชน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้

ส่วนขั้นตอนการดูแลผู้ต้องขัง เมื่อเริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ จะมีหมอสูติฯ มาดูแลอยู่ตลอด รวมทั้งมีพยาบาลที่อยู่ประจำ 24 ชั่วโมง รวมทั้งนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เข้าไปคุยเกี่ยวกับความเครียด ความกังวล และดูแลเกี่ยวกับสภาพจิตใจ

เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด ทางเรือนจำจะส่งผู้ต้องขังออกไปคลอดที่โรงพยาบาลข้างนอก เมื่อคลอดแล้วประเมินอาการปลอดภัยทั้งแม่และลูก ก็จะพากลับเข้ามา โดยค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก ผู้ต้องขังทุกคนจะมีสิทธิ 30 บาท ครอบคลุมการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว

พยายามทำให้เด็กๆ เหมือนรู้สึกอยู่บ้าน
พยายามทำให้เด็กๆ เหมือนรู้สึกอยู่บ้าน

เหตุผลที่ต้องส่ง "ผู้ต้องขัง" ออกไปคลอดนอกเรือนจำ

ส่วนสาเหตุที่ต้องส่งผู้ต้องขังออกไปคลอดข้างนอก เพราะถ้าคลอดลูกในเรือนจำ จะถูกบันทึกสถานที่เกิดในใบสูติบัตรว่า ทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ พอเด็กโตไปอาจจะกลายเป็นตราบาป ถูกล้อเลียนว่าเกิดในคุกได้ ต่อมา จึงเปลี่ยนสถานที่ให้ไปคลอดที่โรงพยาบาล 100% แต่ถ้าเกิดเคสฉุกเฉิน จำเป็นต้องคลอดในเรือนจำจริงๆ จะใช้เป็นข้อมูลบ้านเลขที่ ไม่เขียนว่าทัณฑสถานหญิงกลาง กรมราชทัณฑ์ เพื่อคลายความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หลังจากแม่ที่เป็นผู้ต้องขังคลอดลูกแล้ว จริงๆ กรมราชทัณฑ์ กำหนดให้เด็กอยู่กับแม่ได้ 3 ปี แต่ในทางปฏิบัติจะให้อยู่แค่เพียง 1 ปี เนื่องจากเด็กจะเริ่มจำ รวมถึงซึมซับพฤติกรรม ที่ผ่านมาเคยมีเด็กบางคน จำการนับยอด ยกมือนับเลขด้วย เพราะเห็นแม่ทำแล้วจำไปทำตาม รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เด็กๆ จะได้เจอแต่ผู้หญิง เมื่อเจอผู้ชายก็จะกลัว ฉะนั้นการส่งเด็กออกไปอยู่ข้างนอกตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีกว่า โดยที่ผ่านมา จากการพูดคุยกับผู้ต้องขังที่ส่งลูกออกไปอยู่ข้างนอก ส่วนใหญ่เด็กจะเข้ากับครอบครัวและสังคมได้ดี

สำหรับคนที่บ้านไม่มีความพร้อมจะรับเด็กออกไปเลี้ยงจริงๆ ก็ต้องพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนว่า ต้องส่งเด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์ สถานที่ภายนอกที่จะคอยรองรับเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กซึมซับกับสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำ แต่ส่วนใหญ่ เราจะพยายามติดต่อให้ญาติมารับเด็กไปเลี้ยง เพราะการไปอยู่สถานสงเคราะห์ เข้าใจว่ามีที่อยู่ มีอาหารให้กิน แต่เป็นห่วงเรื่องสภาพจิตใจมากกว่า อยากให้เด็กๆ ได้อยู่กับครอบครัวของเขา

"เคยมีเคส 10 กว่าปีที่แล้ว แม่ลูกอ่อนที่เพิ่งพ้นโทษออกไป หลังจากปล่อยตัว อุ้มลูกออกไปจากเรือนจำ แต่สุดท้ายก็เอาลูกมาวางไว้ที่หน้าเรือนจำเหมือนเดิม เพราะไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงลูก ต่อมาเจ้าหน้าที่เรือนจำที่เพิ่งออกเวร เดินออกไปเจอ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องพาไปที่ไหน จึงพากลับมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม โดยเลี้ยงดูส่งเสียจนเติบโต"

ส่วนสวัสดิการของเด็กที่อยู่ภายในกรมราชทัณฑ์ จะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแพมเพิส ของเล่น นมผง ซึ่งคุณเอมยังกล่าวด้วยสีหน้าจริงจังว่า "เจ้าหน้าที่พยายามทำให้ห้องเด็ก เปรียบเสมือนเป็นบ้าน ไม่อยากให้เด็กๆ ตื่นมาแล้วเจอแต่ลูกกรง"

"คุณเอม" เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน

เคสผู้ต้องขังที่ลำบากใจที่สุด

คุณเอม เล่าต่อว่า ทำงานมา 7 ปี เคยดูแลเด็กมาแล้วกว่า 100 คน เคสที่ลำบากใจที่สุด คือ ผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนท้องลูกแฝด 3 ไม่ทราบว่าพ่อเด็กเป็นใคร ตอนนั้นเสพยามาด้วย ทั้งๆ ที่รู้ว่าท้อง ซึ่งครอบครัวก็ไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย ไม่ค่อยมาเยี่ยม เมื่อติดต่อญาติได้เขาก็ไม่พร้อมที่จะรับออกไปเลี้ยง สุดท้ายต้องติดต่อสถานสงเคราะห์ โชคดีที่เด็กๆ ทั้ง 3 คนสุขภาพแข็งแรง และมีครอบครัวที่พร้อม มาติดต่อขอรับไปเลี้ยงดูที่ฝรั่งเศสแล้ว

สุดท้ายนี้ ผู้ต้องขังทุกคนบอกตนเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้ใครต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ว่าในส่วนตรงนี้ไม่พร้อมดูแล แต่ไม่อยากให้แม่ลูกอ่อน คนท้อง หรือเด็ก ต้องมาเจอสภาพที่แม่ตัวเองต้องใส่ชุดสีฟ้าทุกวัน ไม่อยากให้ใครเข้ามาแม้แต่วันเดียว อยากให้ทุกคนดำรงชีวิตอย่างมีสติ คิดให้ดี อย่าคิดว่าเรื่องแค่นี้เอง ไม่เป็นอะไร เพราะจริงๆ แล้วมันส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และลูกของเรา ใจของเราคือ ไม่อยากต้องไปแจ้งเกิดให้ใครว่า เกิดในทัณฑสถานหญิงกลาง

บ้านแห่งความหวัง
บ้านแห่งความหวัง

"มูลนิธิบ้านพระพร" ความหวังของผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อน 

อาจารย์สุนทร สุนทรธาราวงศ์ อายุ 72 ปี เลขาฯ มูลนิธิบ้านพระพร เล่าให้เราฟังว่า มูลนิธิบ้านพระพร เปิดมาแล้ว 48 ปี ที่นี่มีเด็กอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กที่เกิดจากแม่ที่อยู่ในเรือนจำ ส่วนอีกกลุ่มคือเด็กที่แม่ยังติดอยู่ในเรือนจำแล้วไม่มีใครเลี้ยง ซึ่งตอนนี้มีเด็กที่เรากำลังดูแลอยู่ทั้งหมด 80 คน เราทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำและลูกๆ ของพวกเขา เป็นการทำงานเฉพาะโดยตรง

ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่สุดคือเรื่อง "งบประมาณ" ที่มันไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางภาครัฐ พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ทางเขาไม่มีงบประมาณช่วย ต้องอาศัยการโปรโมตให้สังคมเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้นรายได้ทั้งหมดจึงมาจากผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคช่วยเข้ามา

จากที่ผ่านมา เรารับเด็กมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เพราะอยากให้เขาได้อยู่กับแม่ ได้กินนมแม่ แต่พอเจอช่วงโควิดที่ผ่านมา เนื่องจากเรือนจำปิดเพราะมีคนติดโควิดเยอะ ฉะนั้นผู้หญิงที่ออกมาคลอดลูก พอคลอดเสร็จแล้วต้องกลับเข้าไปในเรือนจำ แต่เจ้าหน้าที่จะส่งเด็กมาที่นี่ ฉะนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรารับเลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งก็ถือว่าหนักอยู่พอสมควร แต่ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องช่วยพวกเขา

ฉะนั้นเด็กทั้งหมดที่เรารับมาดูแลนั้น คือวางแผนให้พวกเขาได้เรียนจนถึงระดับมัธยมปลาย เพราะอยากให้พวกเขาได้รับการศึกษา ถ้าเด็กคนไหนที่แม่เขายังไม่ออกมาแล้วอยากเรียนต่อ เราก็จะช่วยเหลือด้วยการหาทุนให้เขา

ให้ความรัก ความอบอุ่นมาแล้ว 40 ปี

แม่ประมาณ 20-30% เขาจะให้ลูกกับเราเลย คือไม่มารับลูกกลับไปเลี้ยง เพราะมีครอบครัวใหม่แล้ว ฉะนั้นจะมีเด็กกำพร้าเลยประมาณ 20% รวมทั้งมีกลุ่มแม่ที่พ้นโทษออกมาแล้วไม่มีความสามารถในการเลี้ยงลูก เขาก็จะเอามาฝากไว้กับเรา ซึ่งแม่ก็จะมาเยี่ยมเป็นระยะ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

ทางมูลนิธิดูแลพวกเด็กๆ ทั้งหมดเหมือนลูก ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่สถานสงเคราะห์ เพราะเราเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่รับเด็กแบบนี้มา ทุกเรือนจำหญิงจะส่งเด็กมาที่นี่ ถ้าเราไม่ช่วยก็คงไม่ได้ เราทำงานกับพวกผู้ต้องขังโดยตรง เด็กทั้งหมดที่เรารับมาเราเลี้ยงพวกเขาเหมือนลูก เรามีระบบการเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด ให้นม พาฉีดวัคซีน พาไปโรงเรียน เรียกว่าดูแลทั้งหมดทั้งด้านร่างกาย การใช้ชีวิต และที่สำคัญคือเรื่องจิตใจที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ.