- นักดื่มตัวยงรู้ไหม ตื่นมาแล้วแฮงก์ เมาค้าง อาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไร
- วิธีแก้แฮงก์ เมาค้าง หนักแค่ไหนก็สร่างได้ พร้อมเคล็ดลับเตรียมตัวก่อนไปปาร์ตี้
- เมาค้างกี่วันหาย แนะสังเกตอาการตัวเอง ถ้าไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์
"ศุกร์เมา เสาร์นอนแฮงก์" เชื่อว่าในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ 2023 นอกจากจะเป็นวันหยุดยาวแล้ว หลายคนยังเต็มที่กับการสังสรรค์ ทำให้ตื่นมาแล้วเกิดอาการ "เมาค้าง" หรือ "แฮงก์" (Hang Over) จากกระดกไม่ยั้ง ตอนกินดื่มก็สนุกดี แต่ตื่นมาแล้วปวดหัวคงไม่ใช่เรื่องสนุกนัก เพราะอาการแฮงก์นั้นสร้างความรำคาญและทรมานอย่างมาก ทั้งรู้สึกมึนหัว ปวดหัวจี๊ดๆ คลื่นไส้ อยากจะนอนนิ่งๆ ไม่อยากขยับตัว แต่จะนอนก็นอนไม่ได้
สาเหตุ เมาค้าง หรือแฮงก์
เมาค้าง คือ การที่ร่างกายขาดน้ำจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินร่างกายจะสามารถรับได้ ซึ่งจากข้อมูลของ โรงพยาบาลเปาโล พบว่า หลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายขับของเสียในรูปแบบของปัสสาวะ และมักจะขับสารอาหารสำคัญออกมาด้วย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด ทำให้เกิดการคั่งของสารแอลดีไฮด์ (Aldehyde) มีผลต่อการลดปริมาณน้ำตาลในเลือด และรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน จึงเกิดเป็นอาการปวดศีรษะ
...
โดยส่วนใหญ่จะมีอาการ ปวดหัว คอแห้ง ผิวหน้าและริมฝีปากแห้ง ตาบวม อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องร่วง ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร นอนไม่ได้ มือสั่น ใจสั่น เหนื่อย หมดแรง ตัวเย็น ความดันโลหิต
ดังนั้น ใครที่ไม่อยากตื่นมาแล้วมีอาการเหล่านี้ มีตัวช่วยเล็กน้อยมาแนะนำ นั่นคือ รับประทานให้อิ่ม อย่าปล่อยให้ท้องว่างก่อนดื่มสังสรรค์ ทานอาหารที่มีไขมันสูง นม หมูทอด เค้ก เนย หรืออื่นๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วเกินไป
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีเครื่องดื่มป้องกันอาการเมาค้างที่ให้ดื่มก่อน และที่สำคัญคือ หากไม่อยากเมาค้าง หรือตื่นมาแฮงก์ ก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป
สิ่งที่ไม่ควรทำ หลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีดังนี้
- ไม่ควรอาบน้ำทันที
- ห้ามหลับยาว เพราะจะทำให้ตื่นมาแล้วแฮงก์หนัก
- ห้ามกินยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ พาราเซตามอล ขณะที่ร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์สะสมอยู่มาก เมื่อรับประทานพร้อมกันจะเป็นอันตรายต่อตับ
วิธีแก้เมาค้าง
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ประคบบริเวณใบหน้า ศีรษะ จะช่วยให้อาการดีขึ้น
- ดื่มน้ำเปล่า ช่วยให้ร่างการขับสารพิษ หรือแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะมากขึ้น
- ดื่มชาร้อน น้ำขิงร้อน กาแฟดำ ชาเขียว จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัว
- ดื่มน้ำมะพร้าว เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง ช่วยเพิ่มเกลือแร่ ลดอาการขาดน้ำ
- ดื่มน้ำอัดลม หรือโซดาผสมน้ำหวาน เนื่องจากโซดาจะช่วยขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย
- เติมรสเปรี้ยวให้ร่างกาย เช่น ดื่มน้ำส้มคั้น น้ำผึ้งมะนาว เครื่องดื่มวิตามินซี รวมไปถึงผลไม้ จะช่วยแก้อาการคลื่นไส้
- รับประทานอาหารประเภทซุป โจ๊กร้อนๆ รวมไปถึงก๋วยเตี๋ยว
- กินไข่ต้ม / ไข่ลวก ช่วยให้อิ่มท้อง ดูดซึมสารพิษ
- ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เล่นโยคะ พิลาทิส ช่วยขับแอลกอฮอล์ออกมาในรูปแบบของเหงื่อ ทำให้ร่างกายตื่นตัว
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว
เมาค้าง กี่วันหาย?
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการเมาค้าง ให้ทำตามวิธีการข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการได้ และควรสังเกตอาการตัวเองด้วย หากพบว่ามีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนมาก ท้องร่วงรุนแรง และมีอาการเมาค้างนานกว่า 1 วัน แนะนำให้ไปพบแพทย์.