อุทยานฯ เข้าตรวจสอบความเสียหาย เตรียมดำเนินคดี "เรือใบนักท่องเที่ยว" จอดทับแนวประการังเสียหาย เผยเรือลาดตระเวนมีน้อย จึงอาจหลุดลอดสายตา วอนช่วยเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
วันที่ 4 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพเรือนำเที่ยวจอดไปในแนวทุ่นเขตอุทยานฯ พร้อมทั้งภาพเรือใบที่ทับแนวประการังเสียหาย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ดังที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (วิจารณ์ยับ เรือใบนักท่องเที่ยว จอดในเขตทุ่นอุทยาน จ.กระบี่ ทับแนวปะการังเสียหาย)
ล่าสุด นายฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพิกัดที่เกิดเหตุ บริเวณใกล้กับเกาะยาวาซำ พบความเสียหายในแนวปะการัง มีร่องรอยปะการังแตกหัก จึงได้ทำบันทึกการตรวจสอบไว้และลงบันทึกประจำวันที่ สภ.อ่าวนาง
หลังจากนี้จะตรวจสอบเรือใบลำที่ก่อเหตุ เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.2504 ในส่วนของการเรียกร้องค่าเสียหาย ทางอุทยานฯ จะให้เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อประเมินมูลค่าความเสียหายฟ้องร้องทางแพ่งอีกที
...
นายฑีฆาวุฒิ เผยว่า เบื้องต้นตรวจสอบแล้วพบว่าเรือใบลำในภาพเป็นเรือที่มาจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต แต่ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของ ส่วนความเสียหายของแนวปะการัง จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจในเบื้องต้น และประสานให้ผู้ชำนาญการมาดูรายละเอียดความเสียหายอีกครั้ง เพราะมูลค่าความเสียหายของแนวปะการังต้องดูละเอียด
หลังจากนั้นจึงจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าแจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกันเรื่องที่มีเรือไปจอดตามแนวทุ่นไข่ปลา ซึ่งกันพื้นที่แนวปะการังน้ำตื้นนั้น จากการตรวจสอบทราบว่าเรือไม่ได้มีเจตนาจะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ แต่เป็นการนำเรือเข้าไปจอดผูกกับทุ่น เพราะห้ามทิ้งสมอลงทะเล โดยจุดที่จอดเรือตามในภาพจะเป็นบริเวณถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพี จุดดังกล่าวอยู่ระหว่างรออุปกรณ์เข้าไปติดตั้งทุ่นสำหรับจอดเรือให้ ส่วนภาพนักท่องเที่ยวลงดำน้ำเหยียบย่ำปะการังนั้น ตอนนี้ตรวจสอบทราบว่าเป็นบริษัททัวร์มาจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต เช่นกัน กำลังเร่งติดตามตัว
อย่างไรก็ตามอยากให้เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่ในช่วงเทศกาลจะมีเรือนำเที่ยวเข้ามาวันละหลายร้อยลำเข้ามาในหลายจุด แต่เรือลาดตระเวนตรวจการของเจ้าหน้าที่มีแค่ 10 กว่าลำ จึงอาจมีที่หลุดลอดสายตาบ้าง ก็ต้องไล่ตรวจสอบกันในภายหลัง แต่จากการพูดคุยกับบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ แต่ละบริษัทก็เข้าใจในเรื่องของการอนุรักษ์ และให้ความร่วมมืออย่างดี
แต่ปัญหาที่เกิดอาจมาจากพนักงานใหม่ โดยเฉพาะไกด์บางคนไม่ค่อยเด็ดขาด ไม่กล้าห้ามนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้น จึงอยากฝากถึงบรรดาไกด์นำเที่ยว พนักงานบริษัททัวร์ หากพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว ก็ว่ากล่าวตักเตือนได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพยากรของประเทศไทย ต้องช่วยกันดูแล.