อ.ธรณ์ เผยความสำคัญ เหตุใดจึงต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่ง "หญ้าทะเล" ปราการด่านสุดท้ายกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงกรณี หญ้าทะเล กับ บลู คาร์บอน (Blue Carbon) ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อน 

สำหรับ Blue Carbon หรือ คาร์บอนสีน้ำเงิน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน โดยอาศัยศักยภาพของท้องทะเลในการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ผ่านองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลนหญ้าทะเล ที่ลุ่มน้ำเค็ม เป็นต้น ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเครื่องฟอกอากาศของโลก

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ระบุข้อความว่า เราเคยได้ยินว่าหญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน เป็นที่อยู่สัตว์น้ำทั้งวัยอ่อนและเต็มวัย แต่ประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ Blue Carbon

...

ภาพนี้ใช้อธิบายได้ดีมากครับ จึงนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง เริ่มจากแม่น้ำลำคลองพาตะกอนและสารอินทรีย์จำนวนมากมาจากแผ่นดิน หากตะกอนพวกนี้ลงไปในทะเลโดยตรง เกิดการย่อยสลาย คาร์บอน วนกลับเข้าไปในวัฏจักร กลายเป็นการสะสมคาร์บอนทั้งในน้ำและในอากาศ นั่นคือต้นเหตุสำคัญของโลกร้อน

แม้ว่าจะเป็นกลไกธรรมชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการใช้ประโยชน์ที่มีมากขึ้น ทำให้ป่าน้อยลง หน้าดินถูกชะล้างลงทะเล ยังรวมถึงน้ำที่มีสารอินทรีย์สูงจากชุมชน/เมือง ป่าชายเลนช่วยดักตะกอน/สารอินทรีย์ไว้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่พอครับ อีกทั้งป่าบางส่วนเสื่อมโทรมลง ตะกอนจึงไหลลงทะเลเยอะ

"หญ้าทะเล" จึงกลายเป็นด่านสุดท้าย ใบหญ้าช่วยดักตะกอน เป็นเหมือนเครื่องดูดคาร์บอนอัตโนมัติ เมื่อตะกอนตกลงดิน ฝังลงไปใต้พื้น ระบบรากที่ซับซ้อนของหญ้าทะเลเป็นเหมือนซีลผนึกคาร์บอนไว้ใต้พื้น ฝังลึกลงไปเรื่อย ทำให้คาร์บอนหลุดจากวัฏจักร ไม่ย่อยสลายไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจก หญ้าทะเลยังดักตะกอนไว้จนเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้ป่าชายเลนขยายตัวออกมาได้ ยังช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

จากภาพจะเห็นว่ายังคงมีสารอินทรีย์บางส่วนไหลออกมาตามขอบ เพราะที่นี่เป็นแหล่งหญ้าทะเลทั่วไป แต่ถ้าเป็นแหล่งหญ้าที่อยู่ในแนวปะการัง จะยิ่งช่วยผนึกสารพวกนี้ไว้ แม้ปะการังอาจไม่สำคัญมากในแง่ดูดซับ แต่สำคัญอย่างยิ่งในด้านการกักเก็บ เป็นเขื่อนกั้นตะกอนและผนึกสารอินทรีย์ไว้ข้างใน

เพื่อนธรณ์อ่านถึงตรงนี้ คงเข้าใจแล้วว่าหญ้าทะเลสำคัญต่อการลดโลกร้อนอย่างไร ทำไมเราต้องศึกษาหาทางปลูกฟื้นฟูแหล่งหญ้า

อย่างไรก็ตาม หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่มีวิวัฒนาการไม่ธรรมดา ในบรรดาพืชทั่วโลก 3.2 แสนชนิด มีเพียงหญ้าทะเล 72 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในทะเลได้ และทำเช่นนี้ได้

คณะประมง มก. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น บางจาก ปตท.สผ. สิงห์เอสเตท ฯลฯ ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องในแหล่งหญ้าทะเลแห่งต่างๆ เราพบว่าหญ้าทะเลอายุยืนแต่โตช้า ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะออกดอก การขยายตัวตามธรรมชาติค่อนข้างช้า การขึ้นของหญ้าทะเลยังมีปัจจัยจำเพาะหลายประการ แม้ในพื้นที่เดียวกัน หญ้าชนิดเดียวกันในแต่ละจุดก็มีปริมาณไม่เท่ากัน

การปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลในแหล่งที่มีศักยภาพเป็นไปได้ แต่เราต้องการความรู้อีกมากที่จะช่วยทำให้ Blue Carbon ตั้งต้นและเป็นไปได้ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด

และทั้งสองเรื่องนี้จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากโลกร้อนที่แรงขึ้น ทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเมืองไทย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการลงทุน
เราจำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามแผนที่เสนอกับ UN และถ้าไม่ใช้หญ้าทะเลช่วย มันจะยิ่งยากมากครับ ช่วงนี้อาจารย์ธรณ์จึงมีงานเยอะหน่อย ทั้งออกภาคสนามและไปพูดจาเล่าเรื่องเหล่านี้แหละให้องค์กรต่างๆ ได้ทราบและช่วยกัน.

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat