กรมอนามัย เผย "กระทงโฟม" 1 ใบ ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1 พันปี พร้อมเตือนจุดประทัดอันตราย อาจทำให้หูตึงชั่วคราว หรือหากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้หูตึงถาวรได้

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 มีรายงานว่า นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง เพราะกระทงที่ทำจากขนมปัง หรือโคนไอศกรีม ใช้ระยะเวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน กระทงที่ทำจากกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน และกระทงที่ทำจากโฟม ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานที่สุดกว่า 1,000 ปี

แนะวิธีลดประมาณขยะจากกระทง ด้วยการลดจำนวนกระทง เหลือ 1 กระทง 1 ครอบครัว 1 กลุ่มเพื่อน ให้ลอยด้วยกัน โดยควรเลือกสถานที่ลอยกระทงที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา และเป็นแหล่งน้ำปิด ไม่ลอยในแม่น้ำลำคลอง เพื่อไม่ใหวัสดุต่างๆ ลอยลงสู่แม่น้ำ

สำหรับ กระทงขนมปัง กระทงขนมข้าวโพด ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย โดยเลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป งดใช้เข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำ หรือเลือกลอยกระทงออนไลน์แทน เพื่อลดปริมาณขยะ

สำหรับผู้ประกอบการจัดงาน หรือหน่วยงานต่างๆ ขอความร่วมมือคุมเข้มมาตรการความปลอดภัย เช่น ห้ามเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมไฟ โคมควัน เป็นต้น เนื่องจากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย

นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่นประทัดเองอาจได้รับอันตรายจากสารเคมี ได้รับบาดเจ็บจนถึงสูญเสียอวัยวะ และก่อให้เกิดอัคคีภัยตามมาได้

...

นอกจากนี้การจุดประทัดแต่ละครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงที่มีระดับความดังสูงถึง 130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้

ที่สำคัญผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจพลัดหลง หรือตกน้ำได้ ทั้งนี้หากพบเห็นผู้ที่เกิดอันตราย หรือได้รับบาดเจ็บ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง.