เพจห้องฉุกเฉินต้องรู้ ให้ความรู้ เหตุเหยียบกันแล้วตาย เกิดจากการขาดอากาศหายใจ เพราะถูกเบียดในพื้นที่แออัดเป็นเวลานาน แนะประเทศไทยควรทบทวนการเรียน CPR อย่างจริงจัง จากเหตุการณ์ที่อิแทวอน
วันที่ 30 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุเหยียบกันครั้งใหญ่ที่งานเทศกาลวันฮาโลวีน ในเขตอิแทวอน ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อกลางดึกวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตกว่าร้อยศพ ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกราว 82 ราย บางส่วนยังมีอาการสาหัส
ล่าสุด แฟนเพจเฟซบุ๊ก ห้องฉุกเฉินต้องรู้ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวระบุว่า ขอแสดงความเสียใจในเหตุเหยียบกันตายที่อิแทวอน
เหตุเหยียบกันตาย คืออะไร
ภาษาอังกฤษเรียก Stampede (สะแต้มฟีด) สาเหตุการเสียชีวิต ไม่ได้จากการเหยียบกันด้วยเท้า แต่คือการขาดอากาศหายใจ บริเวณนั้นก็เป็นพื้นที่โล่งมีอากาศไหลผ่าน
...
ขาดอากาศได้อย่างไร
สาเหตุเพราะทรวงอกขยายไม่ได้ ภาษาแพทย์เรียกว่า "Compression Asphyxia Compression" คือ การถูกกดทับจากภายนอก Asphyxia (แอส-ฟิก-เซีย) คือ ภาวะขาดอากาศหายใจ
เมื่อฝูงชนเบียดเสียดจำนวนมาก ระยะห่างแต่ละคนน้อยมาก ลำตัวชิดๆ กัน จนหน้าอกขยายไม่ได้ คนเราหายใจเข้า-ทรวงอกขยายแต่นี่ถูกคนข้างๆ กดเบียดเอาไว้ หายใจเข้าไม่ได้ ก็เลยหมดสติ หากขาดอากาศนานเกิน 3-5 นาที หัวใจก็อาจหยุดเต้นได้ ร่างล้มทับถมกันเป็นโดมิโน จึงมีผู้ประสบเหตุจำนวนมาก
หลังจากเคลียร์ฝูงชนให้ออกจากที่แออัดได้แล้ว ทีมกู้ชีพต้องเริ่มด้วย "ทริอาช" ไม่ใช่เราจะสุ่มช่วยใครก็ได้ที่เราเจอเป็นคนแรก แต่ทีมต้องคัดแยกความเร่งด่วนของผู้ประสบภัย ที่นอนเรียงรายบนถนน แบ่งเป็น แดง-เหลือง-เขียว
ผู้ป่วยสีเขียวยังเดินได้ ให้แยกในที่ปลอดภัย ไม่ต้องการปฐมพยาบาลอะไรมาก เพื่อให้ทีมทุ่มศักยภาพไปดูแลคนไข้สีเหลือง และสีแดงให้รอดชีวิตให้ได้ในที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น จัดเป็นสีแดง ต้องรีบช่วยทันที ต้องรีบปั๊มหัวใจและช่วยหายใจ (CPR) ไม่เช่นนั้นโอกาสรอดเท่ากับศูนย์
มีแต่บุคลากรแพทย์เท่านั้นหรือที่ปั๊มหัวใจได้
พึ่งแต่ทีมกู้ภัยอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ หัวใจหยุดเต้นกันห้าสิบคนพร้อมๆ กัน จะต้องใช้ทีมกู้ชีพกี่คน กี่โรงพยาบาลลองนึกดู แล้วถ้าทีมกู้ชีพไม่พอล่ะ ก็จะมีคนไข้ที่ไม่ได้รับการช่วยอะไรเลยอีกมาก ในคลิปเห็นไหม ประชาชนพลเมืองดีทั้งนั้น ที่กำลังปั๊มหัวใจช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับผู้สูญเสีย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะสะท้อน ให้หันมาทบทวนการเรียนปั๊มหัวใจในประเทศของเรา ให้จริงจังมากขึ้นครับ เกาหลีเขาพร้อมจริงๆ #ห้องฉุกเฉินต้องรู้.
ข้อมูลจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก ห้องฉุกเฉินต้องรู้