• ทำความรู้จัก "พญานาค" ความเชื่อตามคติชาวพุทธ ต้นตระกูลของพญานาค และ 9 จอมกษัตริย์ผู้ปกครองแห่งพิภพบาดาล
  • ที่มาของ "บั้งไฟพญานาค" ความเชื่อของชาวพุทธแถบริมแม่น้ำโขง กับการเสด็จมาโลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษา
  • เทศกาลชมบั้งไฟพญานาค จากพลังแห่งศรัทธา สู่รายได้ที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่

เป็นที่ทราบกันดีว่าในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา นอกจากจะเป็นวันที่ชาวพุทธได้ร่วมทำบุญ และประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักเห็นตามข่าว คือ ภาพของประชาชนมากมายที่พากันไปยืนรอริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อชมปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" หนึ่งในประเพณีสำคัญ ที่สะท้อนคติความเชื่อของคนในสังคมไทย ที่เคารพนับถือพญานาค

ทำความรู้จัก "นาค" ตามความเชื่อชาวพุทธ


ความเชื่อเรื่อพญานาคนั้น มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะปรากฏอยู่ในวรรณคดีศาสนาเรื่องดังอย่าง ไตรภูมิพระร่วง ระบุไว้ว่า นาคมีลักษณะคล้ายงูใหญ่ แต่มีหงอน ดวงตาสีแดง เกล็ดหลายสี อาศัยอยู่บริเวณบาดาลใต้เขาหิมพานต์ กึ่งสัตว์ กึ่งเทพ มีพละกำลังและอิทธิฤทธิ์มาก คือ สามารถแปลงตนและจำแลงกายได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ถลชะ คือ นาคที่เกิดบนบก และ ชลชะ คือ นาคที่เกิดในน้ำ

...

ทั้งนี้ ตามตำนานแล้ว พญานาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จัดอยู่ในฝ่ายสุคติภูมิ สถิตอยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พำนักได้สูงสุดเพียงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งถือว่าเป็นสวรรค์ชั้นต้นเท่านั้น

  • ต้นตระกูลของพญานาค

ตามตำนานเล่าขาน มีการกล่าวถึงรูปแบบของพญานาคที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งประเภทของนาคออกเป็น 4 ตะกูลดังนี้

  1. ตระกูลวิรูปักษ์ นาคที่มีผิวกายเป็นสีทอง เป็นนาคชั้นสูงสุด ถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ คือ การเกิดขึ้นเอง แล้วโตเลย มากด้วยอิทธิฤทธิ์และบุญบารมี มักถูกจัดอยู่ในชั้นเทพ พำนักอาศัยอยู่ในทิพย์วิมาน ที่คอยปกครองพญานาคทั้งหมด ต้นตระกูลคือ "ท้าววิรูปักษ์" ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มหาราชที่ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้านทิศตะวันตก พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี อาทิ พญาสุวรรณนาคราช พญามุจลินท์นาคราช
  2. ตระกูลเอราปถะ ตระกูลที่นาคมีผิวกายเป็นสีเขียว พญานาคชั้นสูง ถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ หรือแบบอัณฑะชะ คือ กำเนิดจากฟองไข่ มีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงกับพญานาคตระกูลสีทอง อาศัยอยู่เมืองบาดาลไม่ลึกมาก เป็นตระกูลที่พบได้มากที่สุดและใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด ชอบขึ้นมาเที่ยวบนโลกมนุษย์ จนเกิดเป็นตำนานรักมากมายกับเหล่ามนุษย์ และหากบำเพ็ญเพียรบารมีจนแกร่งกล้า ก็จะสามารถแผ่เศียรได้ถึง 9 เศียรได้ ก็สามารถขึ้นเป็นพญานาคชั้นปกครองได้เช่นกัน พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี คือ พญาศรีสุทโธนาคราชแห่งวังนาคินทร์คำชะโนด
  3. ตระกูลฉัพพยาปุตตะ ตระกูลนาคที่มีผิวกาย หรือเกล็ดเป็นสีรุ้ง ส่วนใหญ่ถือกำเนิดแบบชลาพุช คือกำเนิดจากครรภ์ อาศัยอยู่ในบาดาลหรือป่าลึก มีอิทธิฤทธิ์มาก แต่พบได้ยาก เพราะมักอาศัยอยู่ในที่ลึกลับ
  4. ตระกูลกัณหาโคตะมะ ตระกูลนาคที่มีผิวกาย หรือเกล็ดเป็นสีดำนิล ถือกำเนิดแบบสังเสทชะ คือ เกิดจากเหงื่อไคล และสิ่งหมักหมมต่างๆ หรือ แบบอัณฑชะคือเกิดจากไข่ มักมีร่างกายกำยำบึกบึน มักจะมีหน้าที่เฝ้าสมบัติของเมืองบาดาล และแม้จะเกิดในตระกูลที่ต่ำกว่าตระกูลอื่น แต่หากหมั่นบำเพ็ญเพียรจนมากญาณบารมี ก็สามารถเป็นพญานาคชั้นปกครองได้เช่นกัน พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี คือ องค์ดำแสนสิริจันทรานาคราช กษัตริย์นาคราชยอดนักรบแห่งเมืองบาดาล

นอกจากนี้ ยังได้แบ่งพญานาคออกเป็นตระกูลย่อยๆ อีกถึง 1,024 ชนิด คือพวกสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ทั้งที่เป็นงูเห่า งูจงอาง งูเหลือม และงูทุกชนิดถือว่าเป็นลูกหลานของพญานาคทั้งสิ้น

  • จอมกษัตริย์นาคา 9 พระองค์ ผู้ปกครองแห่งพิภพบาดาล

สำหรับพญานาคที่อยู่ในพิภพบาดาลนั้น ตามตำนานกล่าวว่า มีนาคกษัตริย์ปกครองอยู่ 9 พระองค์ ดังนี้

  1. พญาอนันตนาคราช เป็นเจ้าแห่งบาดาล ที่มี 1,000 เศียร เป็นราชาแห่งนาคทั้งปวงในเกษียรสมุทร มักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์ รูปร่างสวยงาม ได้ตามเสด็จพระนารายณ์เสมอ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เศษะ หรือ เศษนาค เป็นพญานาคที่ขดร่างเป็นแท่นบัลลังก์ เพื่อให้พระนารายณ์บรรทม เป็นที่มาของ "พระนารายณ์บรรทมสินธุ์"
  2. พญามุจลินท์นาคราช เป็นพญานาคมีอานุภาพมาก อาศัยอยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นไม้มุจลินท์ สายพันธุ์ของพญามุจลินท์นาคราช คือ พญานาค 7 เศียร ซึ่งสืบสายพันธุ์มาจนถึงพญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคที่ฝั่งลาว
  3. พญาภุชงค์นาคราช เป็นพญานาคที่มีผิวกายเป็นสีเทา มีหงอนและเศียรสีแดง มีเศียร 1 เศียร เป็นเจ้าวิสุทธิเทวา เป็นพญานาคราชประจำองค์พระศิวะเทพ หรือพระอิศวร อยู่ในตระกูลฉัพพะยา ปุตตะ
  4. พญาศรีสุทโธนาคราช มีผิวกายสีเขียวมรกต มีเศียรสีทอง 9 เศียร ผู้ครองเมืองหนองกระแสทางฝั่งไทย และมีบริวาร 5,000 ตัว เป็นพญานาคที่ชอบรักษาศีลปฏิบัติธรรม และมาที่วัดพระธาตุพนมเสมอ เป็นเพื่อนกันกับพญาศรีสัตตนาคราช ที่ปกครองอยู่ทางฝั่งลาว ต่อมาเกิดการสู้รบกันนานถึง 7 ปี เรื่องการแบ่งอาหารไม่ยุติธรรม พระอินทร์จึงยุติสงครามด้วยการให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำแข่งกัน พญาศรีสุทโธนาคราช จึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออก ของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนที่เป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขา หรืออาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยากง่าย ในการสร้าง พญาศรีสุทโธนาคราชเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้จึงคดโค้ง เรียกชื่อว่า "แม่น้ำโขง"
  5. พญาศรีสัตตนาคราช มีความเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคแม่น้ำโขงด้านฝั่งลาว มีเศียร 7 เศียร เป็นตระกูลพญานาคที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่งพญานาคทั้งหมด มีบริวาร 5,000 ตัว เป็นพญานาคที่ชอบรักษาศีลปฏิบัติธรรม และมาที่วัดพระธาตุพนมเสมอ เป็นเพื่อนกันกับพญาศรีสุทโธนาคราชที่ปกครองอยู่ทางฝั่งไทย
  6. พญาเพชรภัทรนาคราช หรือพญาเกล็ดแก้วนาคราช เป็นพญานาคที่มีผิวกายสีเงินเหมือนแก้ว มีหงอนและเศียรสีแดง มีเศียรเดียว เป็นลูกขององค์อนันตนาคราช
  7. พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช เป็นพญานาคาราชตระกูลกัณหาโคตมะองค์สีดำ มีผิวกายเป็นสีดำ อายุเก้าหมื่นปี
  8. พญายัสมัญนาคราช หรือพญายัสมันรายะนาคราช เป็นพระโอรสในพญาอนันตนาคราช และเจ้านางสร้อยแสงคีรี ทรงเป็นสหายร่วมรบกับพญาเพชรภัทรนาคราช พญาภาคินทร์นาคราช และ พญานฤบดินทร์นาคราช พญายัสมันนาคราชเจ้านั้น มีเทพเจ้าแห่งสมุทรเป็นผู้ประสิทธิ์วิชาให้ จึงทำให้เป็นเอก ในด้านการรบ
  9. พญาครรตะศรีเทวานาคราช พระองค์เป็นหนึ่งในกองทัพนาคาธิบดี ทรงงดงามปรีชา สามารถโดดเด่น สมเป็นชายชาตินักรบ ทรงเก่งกาจ มีปัญญาล้ำเลิศที่สุด กายของพระองค์มีสีทองล้วน พระเศียร 9 เศียร ร่างกายกำยำใหญ่โต พละกำลังมหาศาล ชอบการจำศีล วิเวก รักสันโดษ ยึดมั่นถือมั่นวาจาเป็นสัจจะ

"บั้งไฟพญานาค" กับเทศกาลวันออกพรรษา

ในศาสนาพุทธนั้น มีเรื่องเล่าที่มาของพญานาคว่า ในสมัยพุทธกาล มีพญานาคตนหนึ่งมีนิสัยดุร้าย มีพิษร้ายแรงในตัวถึง 64 ชนิด สามารถอาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาลได้ โดยพญานาคตนนี้ ได้มีโอกาสนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา จึงเลิกนิสัยดุร้าย ก่อนแปลงกายเป็นมนุษย์ออกบวชเป็นพระภิกษุ แต่เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงไม่สามารถบวชได้ และปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ กลายเป็นที่มาของชาวพุทธ สำหรับเรียกคนที่บวชก่อนจะเป็นพระอรหันต์ว่า "นาค" 

และในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ขอทุกปี จะมีปรากฏการณ์ "ลูกไฟลอยขึ้นเหนือน้ำ" บริเวณแม่น้ำโขง ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธและศรัทธาในพญานาค จึงเชื่อกันว่า เป็นอิทธิฤทธิ์ของพญานาค ที่ปล่อยไฟ เหล่าบรรดาพญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจึงจัดทำเครื่องบูชา เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า หลังจากที่เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปโปรดพุทธมารดาจนครบ 1 พรรษา (3 เดือน) มายังโลกมนุษย์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" นั่นเอง

พลังแห่งศรัทธา สู่การสร้างมูลค่าและรายได้มหาศาล

ปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" มีขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงของไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ ซึ่งถือถือเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุด ที่จะเห็นบั้งไฟพญานาคได้ชัดเจน ทำให้ในทุกๆ ปีช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ประชาชนที่มีจิตศรัทธาต่างมุ่งหน้าเดินทางมาที่จังหวัดดังกล่าว เพื่อเยี่ยมชม และมาเฝ้าจับตาดูลูกไฟ เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ ทำให้กลายเป็นเทศกาลที่เสริมสร้างรายได้กลุ่มคนในพื้นที่ และสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด

เพราะเทศกาล "บั้งไฟพญานาค" นอกจากจะมีประชาชนทั่วสารทิศ เดินทางมาเพื่อสัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้ว หน่วยงานต่างๆ ได้จัดให้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เพิ่มความคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น การจัดถนนอาหาร การประกวดกระทงยักษ์ การแข่งขันเรือยาว การแสดงแสง-เสียงเปิดตำนาน "บั้งไฟพญานาค" การประกวดปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิม การลอยเรือไฟบูชาพญานาค การลอยกระทงสาย และการตักบาตรเทโวโรหณะ.

ผู้เขียน : PpsFoam

กราฟิก : Anon Chantanant