ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เผยผลการศึกษา เหตุกราดยิงทั่วโลก คนร้ายราว 96% ไม่ได้ป่วยจิต ที่เหลือป่วยจิตจาก 2 โรคที่ไม่ได้รับการรักษา
วันที่ 7 ต.ค. 65 นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางช่องไทยรัฐทีวี ถอดบทเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู โดยระบุว่าจากการศึกษาในระดับโลก เหตุการณ์กราดยิง กว่า 96% มาจากคนที่ไม่ป่วยทางจิต แต่มีความเครียด ทะเลาะเบาะแว้ง เมา ฯลฯ และอีกไม่ถึง 5% คือ คนป่วยจิต และ 5% จะมาจาก 2 โรคที่ไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น คือ โรคจากการติดยาเสพติด และโรคจากการหลงผิดที่รุนแรง แต่หากได้รับการรักษา โอกาสก่อความรุนแรงก็จะน้อยมาก เพราะบำบัดได้ ดังนั้น คนที่ติดยา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วย จึงควรได้รับการบำบัด แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการบำบัด เพราะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย
นอกจากนี้ คนที่อยู่ในสายงานความมั่นคง เป็นคนที่เข้าถึงอาวุธได้ง่าย และมีประสบการณ์ในการใช้อาวุธ ปัญหาใหญ่คือ เราใช้มาตรการวินัยเป็นหลัก ก็ลงโทษด้วยการตักเตือน ปลดออก ไล่ออก โดยเฉพาะปลดออก ไล่ออก ถ้าคนคนนั้นป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุให้เขาก่อความรุนแรงได้ โดยไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่า ใช้มาตรการทางวินัยนำมาตรการด้านสุขภาพจิต ให้ออกอย่างเดียวโดยไม่ได้รับการบำบัดสุขภาพจิต แล้วออกมาอยู่ในสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องใช้มาตรการบำบัดนำมาตรการทางวินัย ต้องรักษาแบบจริงจัง เพราะคนกลุ่มนี้มีลักษณะที่ก่อความรุนแรง และความเสียหาย ได้มากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า สังคมเราต้องมีความเห็นพ้องก่อนว่า การมีอาวุธปืน ไม่ใช่เรื่องปกติ อย่างข่าวเด็กทะเลาะกัน ก็ไปเอาปืนจากบ้าน ของผู้ปกครองมา เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเห็นพ้องกันก่อน เหมือนบางสังคม ว่าการมีอาวุธปืน ไม่ใช่เรื่องที่สังคมจะยอมรับ ดังนั้นจากสถิติเรื่องอาวุธปืน เราต้องทบทวนกระบวนการทั้งหมด ในส่วนที่เป็นปืนถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การพกพาอาวุธ เราต้องมาลงทะเบียนกันใหม่ทั้งหมด ในส่วนของปืนผิดกฎหมาย เราไปตามจับไหม ที่เขาประกาศขายกันตามโซเชียล ได้ไปตามจับหรือไม่ ซึ่งสังคมมันเปลี่ยน แต่เรายังใช้กฎหมายเก่า ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์
...