"ตะลิงปลิง" ผลไม้รสเปรี้ยว มีประโยชน์ แต่กินเยอะเสี่ยงให้โทษ ลักษณะอาการแบบไหน เสี่ยงไตวาย ควรรีบไปพบแพทย์

วันที่ 6 ก.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี "เพจดัง" เผย "รุ่นพี่" บางสถาบันรับน้องด้วยการให้กิน "ตะลิงปลิง" จากนั้นรุ่นน้องปัสสาวะเป็นเลือดรัวๆ พร้อมเตือนตะลิงปลิงเป็นผลไม้ที่มีกรดออกซาลิกสูง หากกินเยอะไปอาจถึงตายได้

สำหรับ ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. มีชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 5-12 เมตร 

ผล รูปกลมรี ผลกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. ผลแบ่งร่องเป็นพู จำนวน 5 พู เนื้อผลฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวจัดกินได้ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อผลแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ดรูปแบนกลมเล็กน้อย มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศมาเลเซียและอเมริกาเขตร้อน แล้วกระจายพันธุ์ปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลก ในประเทศไทยนิยมปลูกกันมาแต่โบราณ จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือ ปลีมิง (มาเลเซีย–นราธิวาส) และหลิงปลิง (ภาคใต้)



สรรพคุณทางสมุนไพร

ใบสดของ "ตะลิงปลิง" 

- ตำพอละเอียด พอกหรือทาแก้โรคผิวหนัง เม็ดผื่นคันตามร่างกาย
- ต้ม 2-3 ใบ หรือกินสดเป็นยาขับเสมหะ
- ใบสดประมาณ 1 กำมือผู้ใหญ่ ล้างน้ำให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียด ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย เอาทั้งน้ำและเนื้อพอกบริเวณที่เป็น “คางทูม” วันละ 2 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร ตอนไหนก็ได้เช้ากับเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน ประมาณ 1 อาทิตย์ อาการของโรค “คางทูม” จะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้ในที่สุด

...

ผล "ตะลิงปลิง"

- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ช่วยฟอกโลหิต
- บำรุงกระเพาะอาหาร
- ลดไข้
- แก้เสมหะเหนียว แก้ไอ 


กินเยอะอาจไตวาย

นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกด้านที่เราต้องคำนึงคือ หากกินมากเกินไป ต่อเนื่อง อาจไตวายได้

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเพจ "สมุนไพรอภัยภูเบศร" เคยยกตัวอย่างของเคสคนไข้ที่เคยรับประทานตะลิงปลิงเชื่อม 3-4 ลูก และน้ำเชื่อมจากตะลิงปลิง 1 แก้ว แล้วไตวาย โดยคนไข้ดังกล่าวเริ่มมีอาการหลังจากรับประทานไปเพียง 10 นาที คือ

- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 5-6 ครั้ง
- หลังถ่ายเหลว มีอาการปวดหลังมาก ปวดเอว ปวดเมื่อยทั้งตัวมาก

โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ทานยาหยุดถ่าย ไม่ได้ทาน ORS น้ำสะอาดดื่มตามปกติ ตั้งไว้ 1 แก้ว ก็ดื่มหมดในวันนั้น (ถือว่าดื่มน้ำน้อย) 

ทั้งนี้ ในตะลิงปลิงมีปริมาณกรดออกซาลิกสูง ซึ่งกรดออกซาลิกสามารถจับกับแคลเซียมตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไต ทำให้เกิด acute oxalate nephropathy (AON) หรือ ไตวายเฉียบพลัน ได้

ภาวะไตวายจากการทานตะลิงปลิง ที่รายงานจาก CASE REPORT ส่วนใหญ่เป็นการทานผลสด หรือคั้นน้ำทานปริมาณมาก (พบตั้งแต่ 100 ซีซีต่อวัน ก็ทำให้ไตวายได้) หรือบางเคสเป็นเด็กอายุ 8 ปี ทานแค่ 6 ผล แต่ทานในวันที่อากาศร้อนและเสียเหงื่อมากหลังเล่นกีฬา สามารถเกิดไตวาย แม้ทานเพียงแค่ครั้งเดียว

ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว บวม ปัสสาวะปริมาณลดลง ผลการตรวจปัสสาวะมักตรวจพบผลึกแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate crystals) เมื่อได้รับการแก้ไขด้วยการรักษาตามอาการ หรือฟอกไต หากจำเป็น ค่าไตจะกลับสู่ค่าปกติ ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์

ข้อแนะนำการทาน

- ไม่ควรทานตอนท้องว่าง
- ไม่ควรทานปริมาณมาก
- ไม่ควรทานต่อเนื่อง เพราะกรดออกซาลิกสามารถสะสมในร่างกายได้
- ไม่ควรนำผลตะลิงปลิงมาคั้นทำเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
- ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิง ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีขนาดการทานที่ปลอดภัยแนะนำชัดเจน เนื่องจากขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละคน แต่ภาวะที่ขาดน้ำ (ผู้ป่วยรายนี้ทานแล้วท้องเสีย) หรืออดอาหาร สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดไตวายได้ ควรหลีกเลี่ยงการทานในผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้ที่ฟอกไตแล้ว เพราะมีรายงานการเกิดพิษต่อระบบประสาทในคนไข้ฟอกไต.