- ย้ำอีกครั้ง 5 กันยายน 2565 พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ รถยนต์ส่วนบุคคล ทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
- รถกระบะแบบมีแค็บ คนที่นั่งในแค็บ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย พร้อมย้ำข้อปฏิบัติสำหรับรถนั่งสองแถว และรถสาธารณะ
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร กฎหมายกำหนดต้องนั่งคาร์ซีต ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใดของรถ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ
เรียกได้ว่าเป็นประเด็น ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับกฎหมายความปลอดภัย ที่กำหนดให้ผู้โดยสารทุกที่นั่ง "คาดเข็มขัดนิรภัย" และการติดตั้ง ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (คาร์ซีต) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และเกิดข้อโต้แย้งกันเรื่อยมาตั้งแต่วันเผยแพร่ประกาศ
ซึ่งในวันที่ 5 กันยายน 2565 นี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว เราจึงได้รวบรวมข้อมูลกฎหมายจราจรฉบับใหม่ ที่ผู้ใช้รถจะต้องรู้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้
รถยนต์ส่วนบุคคล ทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัด
ในการขับรถยนต์ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกที่นั่ง จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในรถ แต่หากมีปัญหาสุขภาพ ที่ไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยได้ ไม่จำเป็นต้องคาด แต่ต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
ข้อยกเว้น สำหรับรถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ไม่ถือว่ามีความผิด
- รถยนต์เก่าที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2531
- รถกระบะที่มีการจดทะเบียนก่อนปี 2537
- รถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้งานเกษตรกรรม และรถยนต์อื่นที่ไม่ได้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
...
นั่งแค็บกระบะ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ผิดกฎหมาย
สำหรับรถกระบะ รถกึ่งกระบะ กำหนดให้รัดเข็มขัดนิรภัยเฉพาะแถวหน้า ในส่วนของแค็บ หรือนั่งท้ายกระบะ ไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนด ในลักษณะที่ปลอดภัย และขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด (ส่วนประกาศกำหนด อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565)
ข้อปฏิบัติสำหรับรถนั่งสองแถว และรถสาธารณะ
การนั่งรถสองแถว หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่มีการจัดที่นั่งเป็นแถว ตามความยาวของรถ รวมถึงกลุ่มรถสาธารณะที่มีการขนส่งผู้โดยสาร ไม่ต้องคาดเข็มขัด หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ต่อไปนี้
- ผู้ขับขี่ ต้องคาดเข็มขัดตลอดเวลาที่ขับรถ
- โดยสารไม่เกินจำนวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
- ไม่ยืนหรือนั่งในลักษณะที่เสี่ยงเกิดอันตราย
- ใช้อัตราความเร็วตามกฎหมายกำหนด และต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- ไม่ขับรถยนต์ ขณะที่มีผู้โดยสารเบาะหน้าเกิน 2 คน หรือคนนั่งเบาะหน้า (1 คน) ไม่ได้รัดเข็มขัด
- ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ต้องแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัด และบอกวิธีป้องกันอันตรายทุกครั้งก่อนออกรถ
เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีต
ขณะที่ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี และความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร จะต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือที่เรียกว่า "คาร์ซีต" ทุกครั้ง ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใดของรถ เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แต่ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 นี้
โดยจะต้องรอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 จากนั้นจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับ "คาร์ซีต" (Car Seat) หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นอุปกรณ์เสริมที่ไม่ได้มีติดมากับรถยนต์ มีจำหน่ายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ร้านขายโดยตรง รวมถึงการขายในงานมหกรรมสินค้าแม่และเด็ก ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันต้นๆ ไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับวัสดุอุปกรณ์ ความหนาแน่น และยี่ห้อ
วิธีเลือกซื้อ "คาร์ซีต"
อันดับแรก คือ ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เลือกคาร์ซีตที่มีกับจุดล็อกหรือเข็มขัดนิรภัยที่แข็งแรง ป้องกันการกระแทกจากทางด้านข้าง โดยต้องเลือกให้เหมาะกับอายุ น้ำหนัก และสรีระของเด็ก
ต่อมาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับรถยนต์ และลักษณะการใช้งาน ทั้งขนาดลักษณะของรถ หรือระยะการเดินทาง และที่สำคัญคือต้องเลือกคาร์ซีตที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง หรือทดสอบในเรื่องของความปลอดภัย และความแข็งแรงทนทานของวัสดุที่ใช้
เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ ข้อหาเมาแล้วขับ
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) เผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่จะมีผลวันที่ 5 ก.ย. 65 ซึ่งมีการเพิ่มโทษในบางกรณี ดังนี้ กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ 5 ก.ย.นี้
1. เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำ ข้อหาเมาแล้วขับ
- ทำผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท (ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ)
2) เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต หรือร่างกายของผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) กำหนดความผิดและเพิ่มโทษเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง ดังนี้
3.1 รวมกลุ่มมั่วสุมในทาง หรือสถานที่สาธารณะใกล้ทาง ตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป จะมีความผิดฐาน “พยายามแข่งรถ” หากมีพฤติกรรม ดังนี้
- มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน
- รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง /ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
- มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3.2 ผู้จัด และผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.3 สำหรับร้านแต่งรถ ที่ได้แต่งรถไปใช้แข่ง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง
ผู้เขียน : YOUNIFOAM
กราฟฟิก : Varanya Phae-araya
ที่มา : พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565