ข้อมูลเรื่องความสามารถของไวรัส “ฝีดาษลิง” ในการคงสภาพในสิ่งแวดล้อมยังไม่มีออกมาโดยตรง แต่ข้อมูลของไวรัสตระกูล “Poxvirus” ที่หน่วยงานสาธารณสุขในต่างประเทศนิยมใช้อ้างอิงกันจากบทความที่ตีพิมพ์ไว้เมื่อปี 2007 ในตำรา Poxviruses สรุปสาระสำคัญคร่าวๆได้ว่า...
หนึ่ง...ไวรัส Poxvirus ทนต่อสภาวะที่ปราศจากความชื้นได้ดี ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะแห้งๆติดอยู่บนของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัวได้ดีและนาน...ในบทความใช้คำว่าระดับเป็นปี
สอง...ไวรัสอยู่ในช่วงอุณหภูมิห้องได้ดี และยิ่งอุณหภูมิที่เย็นๆจะมีปัจจัยเอื้อให้ไวรัสอยู่ในสภาวะที่คงทนยิ่งขึ้น ไวรัสอยู่ได้ที่อุณหภูมิ 4 องศาในตู้เย็นได้นานถึง 35 สัปดาห์ โดยไม่เสียสภาพการติดเชื้อเลย
สาม...ไวรัสที่ออกมาจากผู้ป่วยโดยตรง คือมากับเซลล์หรือสารคัดหลั่งมีแนวโน้มที่มีความคงทนสูงกว่าไวรัสที่แยกมาจากเซลล์ที่เลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
สี่...เทียบกับไวรัสโดยทั่วไป Poxvirus ทนต่อความร้อนได้ดีกว่า คุณสมบัติการทนต่อความร้อนอาจแตกต่างกันไปในไวรัสแต่ละประเภท และเป็นไปได้ว่าการสัมผัสกับความร้อนสูง เช่น น้ำร้อนจัด เป็นเวลาที่ไม่นานเพียงพออาจไม่สามารถทำลายไวรัสได้ทั้งหมด
...
สำหรับสารเคมีอะไรจัดการกับไวรัสได้นั้นจะเน้นที่ระยะเวลาที่ใช้สัมผัสเชื้อด้วย เช่น แอลกอฮอล์ต้องอย่างน้อย 10 นาทีนะครับ
อีกประเด็นกรณีความสับสนที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา สวทช. ให้ข้อมูลอีกว่า “ไวรัสฝีดาษลิง” กับ “ไวรัสอีสุกอีใส” ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยครับ เป็นไวรัสคนละชนิดกัน อย่าใช้ชื่อเรียกที่ดูเหมือนจะคล้ายกัน “Monkeypox” กับ “Chickenpox” มาทำให้สับสน...
เพราะมีคำถามว่าไปฉีดวัคซีนอีสุกอีใสจะป้องกันฝีดาษลิงได้มั้ย? คำตอบสั้นๆคือ “ไม่ได้” คนที่เคยติดอีสุกอีใสมาแล้วหรือไปฉีดวัคซีนมาไม่มีภูมิต่อฝีดาษลิง...ถ้าเจอส่งต่อทางไลน์อย่าไปเชื่อ
ตอกย้ำประเด็น...ความเข้าใจผิดข้อหนึ่งเกี่ยวกับการเกิดแผล หรือ “ตุ่มหนอง” ของผู้ป่วยฝีดาษลิง เกิดจากการสัมผัสกับไวรัสบริเวณที่เกิดตุ่มหนองนั้นโดยตรง เช่น แผลที่บริเวณจุดซ่อนเร้นหรือในปาก ไม่ได้หมายความว่าส่วนของร่างกายบริเวณนั้นสัมผัสกับเชื้อมาก่อน
“การเกิดตุ่มหนองของผู้ป่วยฝีดาษลิงสามารถเกิดได้ในหลายส่วนของร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านทางละอองฝอยที่มีไวรัสเจือปนอยู่ เซลล์บริเวณนั้นจะสามารถเพิ่มจำนวนไวรัสได้บ้าง แต่เป็นปริมาณที่น้อยจนไม่สามารถตรวจวัดได้”
ไวรัสที่ได้รับเข้ามาจะถูกส่งไปที่ต่อมน้ำเหลือง อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ม้าม ทางกระแสเลือด เป็นช่วงแรกที่ไวรัสอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณไวรัสมีไม่มาก เพราะไวรัสไม่ได้เพิ่มจำนวนในกระแสเลือดจึงตรวจพบไวรัสได้ยาก เป็นช่วงที่เราเรียกว่า “ระยะฟักตัว” กินเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-9 วัน
และ...อาจยาวถึง 17 วัน เนื่องจากระยะนี้ปริมาณไวรัสในร่างกายมีน้อยมาก ร่างกายไม่มีอาการใดๆ จึงเชื่อว่า “ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครได้”
หลังจากที่ไวรัสส่งต่อผ่านทางกระแสเลือดไปยังต่อมน้ำเหลืองม้าม ตับ หรือไต ไวรัสจะเริ่มมีการเพิ่มจำนวนของอนุภาคมากขึ้น ซึ่งร่างกายโดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มจับสัญญาณกระบวนการดังกล่าวได้ ร่างกายจะเริ่มมีการต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสเหล่านั้นด้วยอาการต่างๆ
เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 3-4 วัน และเนื่องจากไวรัสมีการเพิ่มปริมาณขึ้นแล้ว มีโอกาสที่จะตรวจวัดได้จากตัวอย่างเช่น เลือด น้ำลาย และเชื่อว่าปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้
เมื่อไวรัสมีปริมาณมากขึ้น ไวรัสจะส่งผ่านกระแสเลือดอีกครั้ง ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าครั้งแรกมาก และไวรัสสามารถส่งผ่านกระแสเลือดไปที่ส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผิวหนัง เชื่อว่า...ไวรัสสามารถติดเชื้อที่เซลล์ของหลอดเลือดในผิวหนังส่วนหนังแท้ ทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์หลอดเลือด
การอักเสบเกิดขึ้นและแพร่ไปต่อที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้มีอาการของตุ่มหนองเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดที่ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนอยู่เป็นปริมาณมาก จึงเป็นแหล่งของไวรัสที่สามารถแพร่กระจายต่อ ระยะที่มีตุ่มแผลที่เกิดขึ้นนี้...ใช้เวลาประมาณ 2–4 สัปดาห์
โดยลักษณะของตุ่มแผลก็แบ่งเป็นระยะๆได้ตามลักษณะของแผลและอาการ แต่เชื่อว่าไวรัสจะหมดไปจากแผลเมื่อแผลหายสนิทแล้ว...จะเห็นชัดว่า การเกิดตุ่มหนองบนผิวหนังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่จุดแรกที่ร่างกายรับเชื้อเข้ามา ทำไม? ไวรัสถึงไปที่จุดต่างๆของร่างกาย ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนทางวิทยาศาสตร์
ดร.อนันต์ บอกอีกว่า ผู้เสี่ยงสูงจากการสัมผัสกับผู้ป่วยฝีดาษลิงเชื่อว่าสามารถให้วัคซีนตามหลังได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่สามารถลดระดับความรุนแรงของโรคได้
ข้อมูลน่าสนใจล่าสุดจากฝรั่งเศส เป็นการเก็บข้อมูลจากผู้เสี่ยงสูง 276 คน โดยการสัมผัสส่วนใหญ่ผ่านทางละอองฝอย (91%) หรือสัมผัสทางอ้อมที่ไม่ได้ถูกตัวผู้ป่วยโดยตรง เช่น ไปสัมผัสสิ่งของที่ผู้ป่วยเคยใช้ (71%) และการสัมผัสผ่านกิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้มีการป้องกัน (54%)
ค่าเปอร์เซ็นต์จะมีส่วนซ้ำซ้อน เพราะผู้ให้ข้อมูลคิดว่าอาจจะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อได้มากกว่า 1 ช่องทาง โดยผู้เสี่ยงสูงทั้งหมดได้รับวัคซีนหลังจากวันที่มีความเสี่ยงประมาณ 11 วัน (เร็วสุด 8 วัน และช้าสุด 14 วัน) โดยวันที่ได้รับวัคซีนทุกคนยังไม่มีอาการใดๆ โดยวัคซีนที่ให้กับผู้เสี่ยงสูงคือ JYNNEOS (MVA-BN) Vaccine
...เป็นแบบฉีด ไม่ใช่รุ่นเก่าที่เป็นตัวปลูกฝี
ในจำนวนผู้เสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด พบว่า 12 คน ตรวจพบการติดเชื้อฝีดาษลิง (ออกจากระยะฟักตัว) โดย 3 คน พบติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน 1 วัน และคนที่ตรวจพบวันที่ 2 และ 3 อีกวันละ 1 คน อีก 5 คน คือกลุ่มที่ตรวจพบหลังรับวัคซีนไป 4-5 วัน และมี 2 คน คืออาการมาค่อนข้างช้า คือหลังรับวัคซีนไป 22-25 วัน
ข้อมูลยังระบุว่ามีผู้ป่วย 1 ราย เป็นผู้ได้รับเชื้อจากการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยและเผลอโดนเข็มที่ปนเปื้อนไวรัสเข้าโดยตรง ซึ่งหลังโดนเข็มทิ่มก็ฉีดวัคซีนทันที แต่ก็พบการติดเชื้อที่ 4 วันต่อมา
อาการของผู้ติดเชื้อ 12 คนที่ได้รับวัคซีนตามหลัง พบว่า 50% ยังมีตุ่มแผลขึ้นอยู่ และมีอาการอื่นๆเช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ แต่อาการโดยรวมมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงโดยทั่วไป ทีมวิจัยเชื่อว่า การให้วัคซีนตามหลังการสัมผัสเสี่ยงสูง ถึงแม้อาจจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100%
แต่...น่าจะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
เสียดายจากการศึกษานี้ไม่มีตัวเลขระบุว่า “ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” แล้วไม่ได้รับวัคซีนจะมีการตรวจพบเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์...มากกว่า 12 ใน 276 คน เท่าไหร่ ซึ่งถ้ามีตัวเลขตรงนี้จะช่วยให้เห็นความสำคัญต่อการนำ “วัคซีน” มาใช้ในผู้เสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น
ความน่ากังวลสำคัญมีว่า...ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงหลายคนอาจจะไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเองที่จะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ เนื่องจากร่างกายไม่ได้เตือนอะไรให้ทราบล่วงหน้าก่อน การเข้าใจกลไกการเกิดโรคในบริบทปัจจุบันจะสำคัญมาก เพราะถ้าอิงตามตำราที่ไม่อัปเดตเราอาจตามไม่ทัน.