สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยโควิดระบาดทำเด็กอายุ 0-18 ปี ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้พบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมแนะการฉีดวัคซีน ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงได้
วันที่ 3 ส.ค. 2565 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า มิสซี เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ แต่พบภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ถ้ามีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วมากกว่า 100 ราย ทั่วประเทศ สำหรับการป้องกันโรคนี้มีการรายงานจากต่างประเทศพบว่า การให้วัคซีนป้องกันโควิดลดความเสี่ยงต่อการเกิด MIS-C และลดความรุนแรงของโรคได้
ทางด้าน นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยเพิ่มเติมว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 51 ราย อายุตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีภาวะช็อกจึงจำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ ผู้ป่วยบางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพองคล้ายกับโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90 ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันฯ
อย่างไรก็ตาม พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 ราย การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที จะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้ ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินียังไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากวัคซีนป้องกันโควิดในผู้ป่วยที่เคยเป็น MIS-C และพบว่าผู้ป่วย MIS-C ที่จำเป็นต้องเข้าไอซียู ในปี 2565 มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เด็กไทย.
...