• ลองโควิด (Long COVID) ภาวะแทรกซ้อนหลังป่วยโควิด ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการที่ไม่เหมือนกัน เป็นได้ทั้งอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการที่หลงเหลืออยู่จากการติดเชื้อโควิด
  • แบบประเมินความเสี่ยง ลองโควิด เบื้องต้น โดยกรมการแพทย์ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ หรือคลิกลิงก์จาก LINE OA : หมอพร้อม
  • การรักษาลองโควิด นอกจากในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งออกแพ็กเกจ การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการรักษา สนนราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่น ยังมีการรักษาตามสิทธิ์ในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ์อยู่  ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์


นอกจาก การติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะ "ลองโควิด" (Long COVID) หรือภาวะแทรกซ้อนหลังป่วยโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องให้ความใส่ใจ ไม่แพ้การป้องกันตัวเอง โดยอาการเหล่านี้มักพบหลังจากที่รักษาโควิดหายแล้ว โดยแต่ละคน จะมีอาการที่เกิดขึ้นหลากหลาย แตกต่างกันไป อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากโควิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกาย ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพจิต มักพบอาการภายหลังได้รับเชื้อ ราว 4-12 สัปดาห์

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีภาวะลองโควิด หรือไม่

...

 

ล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ “แบบสอบถามการติดเชื้อโควิด-19 และอาการหลังการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชน” เพื่อประเมินอาการผิดปกติและความรุนแรงหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษาการติดเชื้อโควิด และเพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามและดูแลรักษาผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด

โดยสามารถคลิกผ่านลิงก์ของ กรมการแพทย์ หรือกดทำแบบประเมินจาก Line OA : หมอพร้อม จากนั้นจะมีแบบสอบถามให้ผู้ป่วยเริ่มประเมินตัวเองหลังติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในแบบสอบถาม จะต้องกรอกชื่อ นามสกุล, สถานที่เข้ารับการรักษาโควิด, ประวัติการรับวัคซีน, ระดับความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด

จากนั้นจะมีการถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังรักษาหายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

  • อาการอ่อนเพลีย
  • อาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หรือไอ
  • อาการเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก
  • อาการทางระบบประสาท เกี่ยวกับจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ 
  • เคลื่อนไหวผิดปกติ ปัญหาด้านความจำ สมาธิสั้น
  • อาการทางจิตใจ วิตกกังวล ตึงเครียด เศร้า ท้อแท้ เบื่อไม่อยากทำอะไร ปัญหาการนอนหลับ
  • ระบบผิวหนัง มีผื่นตามร่างกาย ผมร่วง ผิวลอก
  • ระบบหู ตา คอ และจมูก กลืนลำบาก สูญเสียการได้ยิน ตามองเห็นไม่ชัด เจ็บหู
  • ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อและกระดูก คอแข็ง กล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน
  • ระบบภูมิคุ้มกัน มีปฏิกิริยาการแพ้เพิ่มขึ้นในอาการแพ้ที่มีอยู่เดิม มีการแพ้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยแพ้มาก่อน ผิวหนังเป็นเม็ดพุพอง คล้ายงูสวัด
  • ระบบเจริญพันธุ์ รอบประจำเดือนมาผิดปกติ เข้าวัยหมดประจำเดือนแล้วยังมีเลือดออก
  • คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไป


เมื่อทำแบบทดสอบเรียบร้อยแล้ว ระบบจะทำการสรุปผลการประเมินภาวะ "ลองโควิด" (Long COVID) โดยอาการที่มีความรุนแรง จะเท่ากับหรือมากกว่า 5 คะแนนขึ้นไป พร้อมกับแสดงคำแนะนำการดูแลสำหรับอาการต่างๆ 

ทั้งนี้ สามารถประเมินอาการซ้ำอีกครั้งในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อติดตามอาการ หากอาการดังกล่าวกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

สำหรับการรักษา “ลองโควิด” นั้น นอกจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ออกแพ็กเกจตรวจสุขภาพ และรักษา ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับโปรแกรมการตรวจ และการดูแลรักษา โดยสามารถตรวจสอบได้ที่โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง

ส่วนผู้ที่ถือสิทธิ์ "บัตรทอง" นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า โดยหลักการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ครอบคลุมการรักษาทุกโรคอยู่แล้ว ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

ขณะที่ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร มีเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด ที่พ้นระยะเฉียบพลัน และยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine) โดยผู้ที่จะเข้ารับการรักษาได้นั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด ที่หายป่วยแล้ว มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง คือ

1. โรงพยาบาลกลาง ณ คลินิกประกันสุขภาพ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
2. โรงพยาบาลตากสิน ณ ARI Clinic ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.
7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ณ ARI Clinic ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
8. โรงพยาบาลสิรินธร ณ คลินิกวัณโรค ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น. 
9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น.

โดยจะเปิดให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น ในวันและเวลาราชการ สามารถทำการนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และจะขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย

อย่างไรก็ตาม หากใครที่หายป่วยแล้ว แต่ยังพบว่าตัวเองมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ หรือมีอาการบางอย่างทางร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม ลองทำแบบประเมิน และเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อประเมินการรักษาต่อไป เพราะหากปล่อยไว้ อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun