สถาบันทันตกรรม แจง "โรคฟันผุ" เกิดจากหลายสาเหตุ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดต่อผ่านการ "หอม" หรือ "จูบ" พร้อมแนะควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย


วันที่ 27 มิ.ย. 2565 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง โรคฟันผุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดต่อผ่านการหอมหรือจูบ เนื่องจากฟันจะผุได้นอกจากเชื้อโรคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย เช่น ความเป็นกรดของน้ำลาย, การไหลของน้ำลาย, สภาพของผิวฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาการสัมผัสของเชื้อโรค และกรดต่อผิวฟัน จนกระทั่งเกิดการทำลายของผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากพอ อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือน จนเกิดการทำลายของผลึกเคลือบฟัน ดังนั้นการจูบในช่วงเวลาอันสั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อของฟันผุได้

สำหรับการจูบ มีโอกาสส่งผ่านเชื้อโรคทางน้ำลาย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือ เริม นอกจากนี้กรณีที่มีแผลในช่องปาก อาจทำให้เกิดการติดต่อของโรคติดต่อผ่านทางเลือดได้อีกด้วย เช่น โรคเอดส์, ซิฟิลลิส ดังนั้น ควรดูและรักษาสุขภาพช่องปากเพื่อป้องกันฟันผุ หมั่นสังเกตฟันของตนเอง ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุกจิก

ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงสุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานสัมผัสกับฟันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์สร้างกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน จนกระทั่งทำให้ฟันถูกกัดกร่อนทำลายเป็นรูผุ จากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าสู่ชั้นในเนื้อฟัน ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟันได้เมื่อรับประทานอาหารร้อนหรือเย็น โดยเมื่อฟันผุมีการลุกลามจนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือเกิดรากฟันอักเสบเป็นหนอง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นช่องทางให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นได้

...

ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดปัญหาการเกิดโรคฟันผุ ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันและยับยั้งปัญหาในช่องปากได้ทันท่วงที.