น้ำปลาร้า เป็นเครื่องปรุงรส ไม่ใช่เครื่องดื่ม แพทย์เตือน กินมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูง เสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย

จากกรณีดราม่าเน็ตไอดอลชื่อดังขายน้ำปลาร้า โดยช่วงหนึ่งมีการพรีเซนต์น้ำปลาร้าที่ขาย โดยการเทใส่แก้วน้ำแข็ง แล้วยกดื่ม ทำให้คนในโลกโซเชียลออกมาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นโกโก้ เนื่องจากสีที่อ่อนกว่า และความใส ไม่เหมือนน้ำปลาร้า นอกจากนี้ บางคนยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากเป็นน้ำปลาร้าจริง ก็หวั่นว่าการกินแบบนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งน้ำปลาร้าเป็นเครื่องปรุง รสชาติเค็มนำ ไม่ใช่เครื่องดื่ม รับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะเป็นอันตรายต่อไตได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่าสามารถนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่มได้ แต่เนื่องจากปลาร้าเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง จึงไม่ควรนำมาดื่ม เพราะกระบวนการทำน้ำปลาร้าผ่านการหมักด้วยเกลือ รำข้าว และถูกแต่งเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น กะปิ หรือเพิ่มปริมาณด้วยการใส่น้ำเกลือต้ม อีกทั้งผู้จำหน่ายปลาร้ามักจะดัดแปลงเป็นสูตรเฉพาะร้าน ให้ได้กลิ่น รส ตามความต้องการเพิ่ม

ดังนั้น การกินปลาร้ามากเกินไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังได้

นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรสของปลาร้าแต่ละชนิด ทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ และตลาด พบว่ามีปริมาณโซเดียมอยู่ในระดับที่สูงทั้งหมด และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร

...

อย่างไรก็ตาม มีผลการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า การลดบริโภคเกลือลงเหลือเพียง 3 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรลดเหลือเพียง 3 ส่วน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม เพื่อให้ไตมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง.