(ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นหนังสือ "เนติบัณฑิตยสภา" แก้ไขให้ "ทนายความหญิง" มีสิทธิสวมกางเกงไปศาล
วันที่ 16 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Nitihub และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นหนังสือถึง เนติบัณฑิตยสภาเพื่อแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 ว่าด้วย การแต่งกายของสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาในวันศุกร์ 17 มิ.ย. 2565 เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการลงชื่อในแคมเปญ ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่การไปศาล ซึ่งขณะนี้มีคนลงชื่อกว่า 16,000 แล้ว
ทั้งนี้ ได้ระบุเนื้อหาว่า ปัจจุบันยังคงปรากฏเหตุการณ์ที่ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความซึ่งสวมใส่กางเกงไปศาลถูกผู้พิพากษาตักเตือน, ตำหนิติเตียน, เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย, หรือกระทั่งห้ามว่าความ "ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลไม่ได้" ปรากฏการณ์นี้เกิดจากกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนของสภาทนายความซึ่งระบุไว้ในข้อที่ 20 ของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยเรื่องมรรยาททนายความที่ให้ทนายความหญิง "แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น" รวมทั้งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ หมวด 3 สิทธิของสมาชิก ข้อ 17 ซึ่งกำหนดให้ทนายความหญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรงอันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน
ดังนั้น นิติฮับ (Nitihub), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) หรือ Human Rights Lawyers Association (HRLA), และประชาคมทนายความพยายามผลักดันให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เท่าเทียมออกไป และกำหนดให้ทนายความแต่งกายสุภาพตามสากลนิยมก็เพียงพอ เราพยายามผลักดันมาอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งปีที่แล้วเนติบัณฑิตยสภาได้มีมติรับทราบความต้องการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวแล้ว ทว่าปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้าและทนายความหญิงที่สวมกางเกงยังคงถูกเลือกปฏิบัติ
...
สำหรับวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 2565 นิติฮับ, สนส., และทนายความหญิงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจึงจะแต่งกายสุภาพด้วยการสวมกางเกงไปทวงถามความคืบหน้าของการพิจารณาแก้ไขระเบียบดังกล่าว ต่อคณะกรรมการเจ้าหน้าที่เนติบัณฑิตยสภาอีกครั้ง พร้อมทั้งยื่นรายชื่อจากแคมเปญ "ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล" บน Change.org/NitihubXHRLA ซึ่งมีนักกฎหมายและประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาลมากกว่า 16,503 รายชื่อและจำนวนผู้ลงชื่อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม จึงขอเชิญมาเป็นประจักษ์พยานในการทวงถามความคืบหน้า, การยื่นรายชื่อผู้คนที่สนับสนุน, และการต่อสู้กับปัญหาที่ทนายความหญิงต้องเผชิญ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขหรือยกเลิกข้อบังคับที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งขัดต่อวิถีปฏิบัติในยุคปัจจุบันที่ความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิในการแต่งกายมีความสำคัญ.