เปิดนโยบายผู้ว่าฯ กทม. กับ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" วาง 216 นโยบาย ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ มั่นใจ 4 ปีหลังจากนี้ คุณภาพชีวิตคนกรุงต้องดีขึ้น

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ในรายการ BKK Stories "เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ" ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 ได้พูดคุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับนโยบายผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อถามว่า มองภาพอนาคตของ กทม. หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่ของ กทม. หลักๆ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1. คุณภาพชีวิตของคน เช่น น้ำเสีย ขยะ ทางเดินเท้า 2. การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง การให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว โปร่งใส 3. เพิ่มโอกาสให้คนเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดเทศกาล ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับบางคน แต่การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะแต่ละคนมีความต้องการหลากหลาย

จริงๆ แล้ว กทม. ทำหน้าที่เต็มที่ เรามีแผนดำเนินการชัดเจน 216 ข้อ เพิ่มเติมจาก 214 ข้อ เชื่อว่า กทม.จะไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากคน กทม. ด้วย จริงๆ แล้วเมืองไม่ใช่ตึกรามบ้านช่อง เมืองคือคน คนคือเมืองที่พัฒนาไปด้วยกัน เราทำเต็มที่และขอให้พวกเราเดินไปด้วยกัน ช่วยกันคนละมือ คนละไม้ อย่าง 7 วันที่ผ่านมา ผมเห็นความหวังมหาศาล คนตื่นเต้น หลายคนอยากมีส่วนร่วม เช่น งานดนตรีในสวน มีคนเสนอตัวมาเล่นดนตรีให้คนฟัง นี่คือความสวยงามที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ความสวยงามที่มาจาก กทม. เพราะ กทม. เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก แต่พลังและเนื้อหาที่เกิดขึ้นมาจากประชาชน เช่นเดียวกับ ไพรด์พาเรด (Pride parade) กิจกรรมนี้ทาง กทม. ก็ไม่ได้จัด แต่เนื้อหาและความสนุกในงานนั้นมาจากประชาชน คนกรุงเทพฯ ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินไปกันทุกคน

...

กรุงเทพฯ 9 ดี นโยบาย 9 มิติ

นายชัชชาติ กล่าวว่า นโยบายจาก 214 ข้อ เพิ่มเป็น 216 ข้อนั้น มาจากวิสัยทัศน์หลักที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองของทุกคน เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย เราได้ไปดูตัวชี้วัดของต่างประเทศซึ่งมี 30 ตัวชี้วัด ซึ่งได้ตัดทอนมาใช้กับกรุงเทพฯ คือ กรุงเทพฯ 9 ดี นโยบาย 9 มิติ คือ 1. ความปลอดภัยดี 2. สุขภาพดี 3. สิ่งแวดล้อมดี 4. การเรียนดี 5. บริการจัดการดี 6. เดินทางดี 7. โครงการดี 8. เศรษฐกิจดี 9. สร้างสรรค์

ในอนาคตอาจเพิ่มนโยบายเป็น 300 ข้อก็ได้ หากทำแล้วตอบโจทย์ประชาชนและสามารถทำได้ทันที เช่น การแจกผ้าอนามัยให้เด็ก ที่สามารถทำได้เลยทั้งที่ตอนนั้นยังไม่ได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หากเรามีแผนชัดเจน ทุกอย่างก็จะทำได้ทันที

“เราไม่มีการฮันนีมูน เพราะความทุกข์ประชาชนไม่มีฮันนีมูน ความทุกข์ประชาชนเดินตลอด เสาร์อาทิตย์ความลำบากก็เดิน ผมเองมีเวลาจำกัดแค่ 4 ปี เราจะไม่หยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าเราหยุดก็จะเป็น 2 ใน 7 ของเวลาที่มี แต่ราชการไม่ต้องกังวล เพราะทุกคนทำงานตามหน้าที่ ทุกคนมีครอบครัวที่ดูแล แต่ทีมบริหารจะต้องพยายามลุยหน่อย ใครที่เกี่ยวข้องก็มาเจอกันวันหยุดบ้างเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน.

4 นโยบายเร่งด่วน

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องรถไฟสายสีเขียวเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนพูดถึงกันมาก แต่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนมากเพราะเราไม่ได้ทำเรื่องนี้ เป็นการนำเอกสารเก่ามาดูว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร มีการอนุมัติเป็นอย่างไร และต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพราะเป็นคนเอาเรื่องเข้า ครม. ต่อมาเป็นเรื่องปากท้อง กทม.ต้องพยามลดค่าใช้จ่ายของประชาชนให้มากที่สุด และตอนนี้สถานการณ์โควิดลดลงเยอะ เราต้องทำให้ชีวิตคนกลับมาปกติ เช่น การเปิดหน้ากาก ทำให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา เรื่องต่อมาคือ ความปลอดภัย เช่น รถชนทางม้าลาย อุบัติเหตุต่างๆ และเรื่อง น้ำท่วม ที่ผ่านมาเราก็ทำไปเยอะ ทุกคนตื่นตัวมากขึ้น

จริงๆ แล้ว หลายอย่างเราอาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณมากนัก หลายเรื่องเราทำได้เลย แค่เปลี่ยนวิธีคิด ผมชอบแนวคิดทำน้อยได้เยอะ เช่น การศึกษา ต้องลงทุนกับเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเป็นช่วงที่มีพัฒนาการสูง โดยเพิ่มค่าอาหาร เพิ่มครูดูแลเด็ก แต่ผลจะได้มาก เพราะเป็นการต่อยอด สร้างรากฐานให้เด็กเข้าประถม สู่มัธยม เช่นเดียวกับ โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ฟังแล้วอาจใช้เงินเยอะแต่ใช้เงินน้อย โดยใช้ความร่วมมือจากเอกชนมาปลูก ที่สำคัญคือ กทม.มีงบประมาณไม่มาก ได้งบประมาณปีละ 8 หมื่นล้าน รัฐบาลกลางให้เงินมาอีก 2 หมื่นล้าน รวมเป็นแสนล้าน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับประชาชน เราจึงต้องใช้งบประมาณอย่างฉลาด

ยุทธศาสตร์ลงพื้นที่สะท้อนความจริง

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่มีหลายคนไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการทำงานแทน ผอ.เขต ทำงานแทนคนอื่น หรือเป็นการทำงานเล็กๆ ที่ไม่เกี่ยวกับผู้ว่าฯ แต่จริงๆ แล้วการลงพื้นที่เป็นยุทธศาสตร์ การลงพื้นที่ไปดูการซ่อมถนน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่จุดนี้จุดเดียว แต่เป็นการส่งสัญญาณให้ทั้ง กทม. ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยว่า "ผมเอาจริงนะ" ถ้าผมลงมาจุดนี้หมายความว่า ทุกจุดต้องได้รับการแก้ไข อย่าให้ผมต้องลงทุกจุด เป็นการส่งสัญณาณว่า ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง โจทย์ที่ผมลงไม่ใช่แค่จุดนี้ ถ้าคนรับผิดชอบไม่เอาจริงจะต้องเจอกันอีก ต้องการให้เจ้าหน้าที่หันหลังให้ผม แต่หันหน้าให้ประชาชน แล้วผมเป็นแบ็กอัพให้คุณเอง แต่คุณต้องดูแลประชาชน

ในส่วนของโครงการเส้นเลือดฝอยคือการใส่ใจ เพราะต้องลงรายละเอียด นอกจกานี้ยังมีแอปพลิเคชัน Traffy Fondue โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำไว้นานแล้ว แต่ขอเขามาใช้ ซึ่งเริ่มทำมาใช้ก่อนการเลือกตั้ง มีคนแจ้งปัญหามาประมาณ 2,000 กว่าเคส แต่ปิดไปช่วงเลือกตั้ง เมื่อได้ตำแหน่งก็กลับมาเปิด แต่ปรากฏว่าเว็บล่มเพราะมีคนแจ้งเรื่องเข้ามาเยอะมาก ซึ่งแต่ละเรื่องน่าสนใจมาก ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในการใช้เทคโนโลยี ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้เงินเลย

เมื่อประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามาแล้วก็ได้รับการแก้ไขไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ละเขตก็ตื่นเต้น ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขยะ ฟุตบาท น้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาเส้นเลือดฝอย มีคนถามว่าจะทำไหวไหมเพราะปัญาเยอะมาก แต่ผมคิดว่า กทม.ปัญหาเยอะ แต่เป็นปัญหาซ้ำ เช่น ปัญหาน้ำท่วม มาจากการไม่ลอกท่อ ไม่ลอกคลอง

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ผมเชื่อว่า ข้าราชการ กทม. และลูกจ้างอีก 8 หมื่นคน เป็นคนดีมีพลังเยอะมาก ซึ่งผมคิดว่าเขาต้องการทิศทางและผู้นำที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา เช่น พนักงานกวาดถนน ผมได้ให้กำลังใจและพูดคุยถามปัญหา ผมว่าเขาต้องการคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ซึ่งเขาพร้อมที่จะให้บริการประชาชน ส่วนตัวมองว่าเจ้าหน้าที่ กทม.มีความโชคดีกว่าประชาชนหลายคน เพราะได้รับเงินเดือน มีสวัสดิการ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนต้องหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นเราต้องเต็มที่ บริการประชาชนให้เต็มร้อย

ในส่วนของการจัดการเวลา นายชัชชาติ กล่าวว่า ผมทำชีวิตแบบนี้มาตลอด ตื่นเช้า นอนเร็วประมาณ 3-4 ทุ่ม ตื่นตี 3 มาวิ่งออกกำลังกาย วันเสาร์-อาทิตย์ก็ทำงาน ไปเยี่ยมคน ดูปัญหาต่างๆ ซึ่งตอนนี้ผมมีเวลาน้อยจึงต้องใช้เวลาให้เต็มที่

4 ปี หลังจากนี้ กทม. จะดีขึ้น?

นายชัชชาติ กล่าวว่า แผน 9 มิติจะทำให้ กทม. ดีขึ้น เพราะเรามีแผนชัดเจน ทั้ง 216 แผน จะสามารถดูความคืบหน้าได้ จะดูได้ว่าแต่ละเรื่องมีการพัฒนาอย่างไร มีตัวชี้วัดอย่างไร มีความโปร่งใสขึ้น คุณภาพชีวิตคนจะต้องดีขึ้น รถอาจจะไม่หายติด แต่ขนส่งสาธารณะต้องดีขึ้น น้ำเสียดีขึ้น เชื่อว่า 216 เรื่องที่วางไว้ จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น

"ขอบคุณทุกท่านที่กรุณา ทั้งคนที่เลือกและไม่เลือก แต่สุดท้ายผมเป็นตัวแทนจากผู้สมัครทั้ง 31 ท่าน เป็นคำสั่งของประชาชนที่ให้ผมทำงาน ผมจะหน้าที่ให้ดีที่สุด จะพา กทม. เดินหน้าเพื่อรับใช้ประชาชนเต็มที่ ขอให้พวกเราไปด้วยกัน ผมพร้อมที่จะเป็นผู้นำ

กทม.มีสิ่งดีๆ มากมายที่มีค่า แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น เราเห็นพลังของการร่วมใจกัน ขอให้พวกเราเดินไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้ผมเดินไปคนเดียว แต่ละคนต้องทำบทบาทของตัวเอง ซึ่ง กทม.จะทำเต็มที่ สุดท้ายแล้วมันจะเป็นภาพต่อที่มีพลัง เปลี่ยนเมืองได้อย่างแน่นอน ผมมั่นใจครับ"