• เส้นทางชีวิต แบตเตอรี่ EV ในประเทศไทย หลังจากผ่านไป 10 ปีแล้ว จะถูกนำไปที่ไหน
  • แบตเตอรี่ EV มือสอง แม้ปลดประจำการจากรถยนต์ แต่ยังนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้
  • เทคโนโลยีรักษ์โลก ขั้นตอนรีไซเคิล จัดการแบตเตอรี่ EV อย่างถูกวิธี ลดการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์

ท่ามกลางกระแสรักษ์โลกที่หลายคนกำลังช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ขยายตัวขึ้นอย่างมาก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ EV มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคำถามเกิดขึ้นว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่ EV เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วจะถูกนำไปกำจัดอย่างไร และมีโอกาสกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่

จากการสอบถาม รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันถึงตัวแบตเตอรี่ EV แต่จริงๆ แล้ว อยากให้มองว่า เวลาแบตเตอรี่ EV หมดอายุ จะยังไม่ใช่ของเสีย แม้จะนำไปใช้กับรถยนต์ไม่ได้ แต่ยังมีความสามารถในการเก็บไฟฟ้า จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งในปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ประมาณ 10 ปี

ดังนั้น สิ่งที่มีการพูดคุยกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจะมีแนวทางอยู่ 2-3 อย่าง เริ่มแรกต้องรู้ว่าภายใน 1 ปีมีรถใช้แบตเตอรี่กี่คัน เมื่อใช้ไปแล้ว 10 ปีแรก จะมีแบตเตอรี่ออกมาเท่าไหร่ และมีแบตเตอรี่ที่ต้องจัดการเท่าไหร่

อนาคตของแบตเตอรี่ EV ในประเทศไทย

รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า อย่างที่บอกไป หลังจากผ่านไป 10 ปี แบตเตอรี่จะยังไม่ใช่ของเสีย แต่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เป็นแบตเตอรี่มือสอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ในต่างประเทศเอง ทางบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์ EV ไม่ว่าเป็นจีน เยอรมนี จะนำแบตเตอรี่กลับไปใช้ประโยชน์เป็นตัวเก็บไฟฟ้าสำรอง

...

เมื่อถามว่าแล้วประเทศไทยจะต้องทำอะไร รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการ เริ่มแรกจะต้องมีเกณฑ์ตรวจสอบประสิทธิภาพ เพื่อให้รู้ว่าแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานจากรถยนต์แบบใดเข้าเกณฑ์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ จึงมีการพูดคุยกับภาครัฐว่า เราจะสร้างมาตรฐานแบตเตอรี่มือสองขึ้นมา เพื่อกำหนดว่า แบตเตอรี่จะกลายเป็นขยะ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ (แบตเตอรี่มือสอง) 

ส่วนประการที่สองจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ทางผู้ประกอบการเองได้นำเสนอเทคโนโลยีต่างๆ ที่ดำเนินการในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร นำแบตเตอรี่ไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แล้วรูปแบบไหนจะเหมาะสมนำมาใช้กับประเทศไทย

การจัดการของเสีย

สำหรับการจัดการของเสีย สิ่งสำคัญคือเราต้องการรู้ก่อนว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นปริมาณเท่าไร เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นแล้วจะถูกส่งต่อไปที่ไหน ซึ่งคอนเซปต์นี้จะถูกใช้ทั้ง แบตเตอรี่ และโซลาร์เซลล์

เพราะถ้ารู้ปริมาณแล้ว จะสามารถจัดการ ควบคุม และตรวจสอบได้ว่า มีการนำแบตเตอรี่ออกไปนอกระบบได้อย่างไร และต้องดูต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำระบบติดตามตรวจสอบตัวแบตเตอรี่ ตั้งแต่การเริ่มใช้งาน ไปจนถึงหมดอายุ รวมไปถึงขั้นตอนส่งแบตเตอรี่ไปจัดการ ซึ่งในส่วนนี้มีการเตรียมการอยู่

ทางผู้ประกอบการรถยนต์เองก็มีประสบการณ์ในการจัดการดังกล่าว ซึ่งในต่างประเทศจะมีการทำแทร็กที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้แบตเตอรี่อยู่ที่ขั้นตอนใด สำหรับประเทศไทย ก็ต้องรอระบบที่เหมาะสมกับเรา

“แบตเตอรี่ EV จะแตกต่างจาก E-wase ที่เป็นการสะสมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ในส่วนของแบตเตอรี่จะมีการออกแบบที่มุ่งไปสู่ กรีนดีไซน์ จะดูว่าในแต่ส่วนของแบตเตอรี่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ และส่วนใดใช้หมดแล้วทิ้งไป ทำอย่างให้เกิดการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในการรีไซเคิลขณะนี้ เรายังไม่สามารถรีไซเคิลตัวนี้ได้ 100% เพราะฉะนั้นจะยังมีขยะอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการศึกษาทดลองต่อ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ถึงศักยภาพในการจัดการของเสียเหล่านี้ โดยเริ่มจากโรงงานรีไซเคิลที่อยู่ในเมืองไทยว่ามีเพียงพอหรือไม่


แบตเตอรี่มือสองกับการนำไปใช้ประโยชน์

แบตเตอรี่ EV ที่ปลดประจำการจากรถยนต์ แต่ยังมีความสามารถในการเก็บไฟฟ้า หรือเรียกง่ายๆ ว่า “แบตเตอรี่มือสอง” สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น หลักๆ เช่น ใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือในหมู่บ้านไกลๆ โดยที่ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ในเวลากลางวันมาแล้วนำมาใช้งานไฟฟ้าในเวลากลางคืน

รีไซเคิลแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ มีส่วนประกอบหลายส่วน ในขั้นตอนแรกจะนำแบตเตอรี่ไปแยกส่วนต่างๆ โดยนำส่วนที่รีไซเคิลได้ไปดำเนินการก่อน ซึ่งตัวที่เป็นปัญหาก็คือ โลหะ เรายังไม่สามารถรีไซเคิลโลหะที่อยู่ในแบตเตอรี่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือ รีไซเคิลให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นผลิตแบตเตอรี่ตัวใหม่ได้ แต่ส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ก็ไม่ได้แย่ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก

เมื่อถามว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเจอปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแบตเตอรี่ EV หรือไม่ และจะมีขั้นตอนการจัดการได้ทันท่วงทีหรือไม่

รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าดำเนินการทัน เพราะแบตเตอรี่ไม่ได้ทิ้งทันที ในส่วนของการเตรียมการ ดูจากศักยภาพของโรงงานที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอ ในขั้นตอนต่อไป จะเป็นเรื่องการทำงานร่วมกัน จะมีการกำหนดวิธีการอย่างไรที่เป็นที่ยอมรับทั้งผู้ใช้ ประชาชนทั่วไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแบตเตอรี่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม

หาก ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ ออกมาจะเป็นโมเดลที่ดี เพราะจะมีการบริการจัดการ โดยมีการพูดถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลกำไร จะมีการระบุว่าขั้นตอนใดมีการเสียเงิน ขั้นตอนใดมีการสร้างรายได้ มีการกำหนดแทร็ค เพื่อตรวจสอบว่า ขณะนี้ของเสียจะถูกส่งไปไหน ถือเป็นต้นแบบที่นำมาใช้กับแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี เช่น แบตเตอรี่หมดอายุแล้ว มีขั้นตอนคัดแยกนำส่วนนี้ไปขายจะได้กำไร หรือส่วนนี้ต้องลงทุนเพื่อนำไปคัดแยกทางเคมี จะมีการกำหนดค่าใช้จ่ายตรงนี้อย่างเป็นธรรม คาดว่าภายใน 1-2 ปี หากผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จ ในการจัดการแบตเตอรี่ EV และ โซลาร์เซลล์ จะมีความชัดเจนมากขึ้น อาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว แต่จะเป็นโมเดลที่สามารถเทียบเคียงกันได้

สำหรับขั้นตอนการกำจัดแบตเตอรี่ EV สามารถทำเสร็จทุกขั้นตอนในประเทศไทยได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.สุธา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า มีการลงทุนในส่วนนี้และมีการเตรียมการ คนที่ตั้งใจเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่เอง มีการวางแผนตั้งแต่การดีไซน์ตั้งแต่ต้นไปจนถึงการจัดการของเสีย

ส่วนตัวมองว่า เราควรจะดำเนินการเรื่องนี้ภายในประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วเราเองมุ่งไปสู่ Net Zero ถ้าเรายังเสียค่าใช้จ่ายในการส่งแบตเตอรี่ไปจัดการที่อื่น ประสิทธิภาพในการส่งเสริมต่างๆ ก็จะลดลงตามลำดับ ในส่วนของการเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่แม้ว่าตอนนี้จะยังไปไม่สุด แต่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาไปต่อเรื่อยๆ อย่างแน่นอน