หมอยง เผยผลการศึกษา เด็กวัย 5-6 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าที่คิด ส่วนมากไม่มีอาการ หรืออาการน้อย พบช่วงโอมิครอนมีการติดเชื้อในเด็กไปแล้วถึง 17%
วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ก่อนได้รับวัคซีน (5-6 ขวบ) มากกว่าที่เราคิด
การติดเชื้อมีทั้งมีอาการและไม่มีอาการ การสำรวจการติดเชื้อในประชากร มีเป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว ในอเมริกา จะตรวจ anti-nucleocapsid ของไวรัส พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร
สำหรับประเทศไทย การตรวจดังกล่าวไม่สามารถทำได้ ประเทศที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะมีภูมิทั้งตัวไวรัส ไม่ใช่เฉพาะแค่สไปก์เท่านั้น จะตรวจพบ anti-nuclecapsid ด้วย จึงแยกไม่ได้ว่าภูมิที่ตรวจพบนี้ เกิดจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากการได้รับวัคซีนเชื้อตาย
ดังนั้นทางศูนย์ที่ผมทำการศึกษาอยู่ อยากทราบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่ จึงสามารถทำได้เฉพาะในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน การสำรวจจึงใช้ประชากรเด็ก ที่อายุ 5-6 ปีก่อนการฉีดวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทย เพื่อให้ทราบอัตราการติดเชื้อไปแล้วว่าเป็นเท่าไหร่
จากการศึกษา เด็กปกติในโครงการของศูนย์ ที่ติดตามภูมิต้านทานของวัคซีน ไอกรน ในจำนวนนี้มีการติดเชื้อแบบมีอาการ และไม่มีอาการ จะเห็นว่า ภาพรวมการติดเชื้อในเด็ก 5-6 ขวบ ในช่วงที่มีการระบาดของเดลตา จะพบว่าเด็ก 5 - 6 ขวบติดเชื้อไปแล้ว ประมาณ 8% พอมาช่วง omicron พบการติดเชื้อในเด็กไปแล้วถึง 17% กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการติดเชื้อเป็นแบบไม่มีอาการ ตรวจเลือดพบร่องรอยการติดเชื้อ คือตรวจพบ anti-nucleocapsid เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ดังแสดงในรูปที่ 1
...
เมื่อมาดูประชากรอีกกลุ่ม เป็นอาสาสมัครมาฉีดวัคซีน ในกลุ่มต่างๆ ในโครงการศึกษาภูมิต้านทานของวัคซีนในเด็ก เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีประวัติ หรือมีอาการการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน แต่เมื่อมาตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีนจะตรวจพบการติดเชื้อมาแล้ว โดยตรวจพบภูมิต้านทาน anti-nucleocapsid และภูมิต้านทานต่อสไปก์โปรตีนแล้ว แสดงถึงการติดเชื้อมาแล้ว ดังในรูปที่ 2 ตรวจพบการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ถึงร้อยละ 8
แสดงว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาในเด็กเล็ก ติดเชื้อไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะมากขึ้นมาโดยตลอด และเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เด็กก็จะสามารถสร้างภูมิต้านทานได้
ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ประชากรไทยน่าจะมีการติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก จะเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น เป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยการสร้างภูมิ เป็นวัคซีนธรรมชาติที่เกิดขึ้น และในอนาคตผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว ถึงแม้จะติดโรค ความรุนแรงของโรคก็จะลดลง
การสำรวจการติดเชื้อไปแล้ว มีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ในการวางแผน ควบคุมโรคโควิด-19 โดยใช้องค์ความรู้มาประกอบ ศูนย์ที่ผมทำอยู่ กำลังมีโครงการที่จะดำเนินการในแนวกว้าง แต่จะทำได้ยากจากการตรวจเลือดในผู้ใหญ่ เพราะบ้านเรามีการฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นจำนวนมาก จะต้องใช้ประวัติการป่วย การสัมผัสโรค ประวัติวัคซีนและการตรวจเลือด.
ข้อมูลจาก แฟนเพจ Yong Poovorawan