หมอแนะวิธีสังเกต "มะเร็งผิวหนังในเล็บ" พบแถบสีน้ำตาลวิ่งตามความยาวของเล็บ แบบไหนควรไปพบแพทย์ 

วันที่ 2 เมษายน 2565 แฟนเเพจ ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่อง มะเร็งผิวหนังในเล็บ ระบุว่า มะเร็งผิวหนังในเล็บ (Subungual melanoma) บทความโดย อ.พญ.ชนิตว์วัณณ์ วิชญชาคร และ ผศ.พญ.แพรมาลา ฉายาวิจิตรศิลป์

จากกระแสที่เป็นข่าวเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดขึ้นในเล็บ ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวล ที่จริงแล้วมะเร็งที่อยู่ใต้เล็บสามารถพบได้ในชาวเอเชียหรือ คนผิวดำแต่ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เล็บที่มีแถบสีดำขึ้นมักจะยังไม่ถึงขั้นที่เข้าข่ายเป็นเนื้อร้าย แต่การตรวจดูเล็บเป็นประจำจะสามารถช่วยให้เราไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็วขึ้น และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วก่อนที่จะมีการลามไปที่อวัยวะอื่น

วิธีการตรวจเล็บด้วยตัวเองสามารถยึดหลักง่ายๆ ดังนี้

1. แถบหรือเส้นสีน้ำตาลวิ่งตามความยาวของเล็บ ตรวจดูว่าแถบสีน้ำตาลนั้นคมชัดดีหรือไม่ ถ้าคมชัดดีและมีความกว้างไม่เกิน 6 มม. ถือว่าโอกาสที่จะเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก หากแถบสีมีความกว้าง สีไม่สม่ำเสมอ ขอบไม่คมชัด หรือ มีการเปลี่ยนสีและขนาด แนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วที่สุด

2. เม็ดสีบนจมูกเล็บ หากสีน้ำตาลหรือดำเลอะขึ้นมาถึงจมูกเล็บ (Hutchinson’s sign) มักเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และ ควรไปพบแพทย์

3. ก้อนเนื้อใต้เล็บ อาจทำให้เล็บแยกออกจากฐานด้านล่าง ถ้าสังเกตเห็นว่าเล็บมีลักษณะนี้แนะนำว่าควรพบแพทย์เช่นกัน

การที่เล็บมีสีผิดปกติสามารถเกิดจากอะไรได้บ้างนอกจากมะเร็งผิวหนัง

...

การที่เล็บมีสีผิดปกติไม่จำเป็นต้องเกิดจากมะเร็งผิวหนังเสมอไป สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เล็บเปลี่ยนสีได้ มีดังนี้

1. แถบเล็บดำที่เป็นหลายๆ นิ้ว อาจเกิดจาก เม็ดสีปกติในผู้ที่มีสีผิวเข้ม ผิวหนังอักเสบรอบๆ เล็บ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของเล็บได้ อาจเป็นผลจากยาบางชนิดเช่น Azidothymidine (AZT) เป็นต้น

2. ภาวะเลือดออกใต้เล็บ มักเกิดในเล็บที่ได้รับการกระแทกบ่อย เช่น เล็บเท้าในกรณีที่ออกกำลังกายบ่อย เป็นต้น ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะทำให้เล็บมีสีแดงเข้ม หรือ น้ำตาลเข้ม

3. ภาวะเล็บเขียว เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือเชื้อรา มักเกิดในเล็บมือที่มีการใช้บ่อย เช่น ในบุคคลที่ทำงานบ้านเป็นหลัก และ มือมีการเปียกชื้นตลอดเวลา เป็นต้น

การรักษา

ถึงแม้ในคนไทยจะพบมะเร็งชนิดนี้ได้ไม่บ่อยเท่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น แต่อาจมีความรุนแรงสูงทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากมีการลุกลามเข้าอวัยวะภายในอย่างรวดเร็ว เช่น ปอด และสมอง

มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดมะเร็งผิวหนัง และ ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงออกเป็นบริเวณกว้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกด้วย นอกจากนั้นอาจต้องให้การรักษาด้วยยา หรือการฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัด.