“บสย. ในมุมมองใหม่นับจากนี้ จะเป็นองค์กรที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยยกระดับองค์กรก้าวสู่ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ภายใต้แนวคิด “TCG Fast & First” รวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจ SMEs ขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology สร้าง Financial Platform เป็นเครื่องมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของ บสย. เพื่อเป็นกลไกในการช่วยให้ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ”
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า โลกธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต่างปรับตัว ปรับกลยุทธ์เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ บสย. จำเป็นที่จะต้องวาง Position ใหม่ของ บสย. ให้ “ก้าวไปดักรอข้างหน้า” ในการให้บริการและการดูแลลูกค้า SMEs เพื่อไปสู่การเป็นที่หนึ่งในใจ SMEs โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์การบริการ ปรับกลยุทธ์และแนวทางให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่ออยู่เคียงข้าง SMEs ในการร่วมขับเคลี่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ปีที่ผ่านมา บสย.ร่วมกับสถาบันการเงินช่วยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในระบบ 3 ล้านรายให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 22.35% ส่วนอีกเกือบ 80% ยังเข้าไม่ถึง โดยกลุ่มรายย่อย หรือไมโคร เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องของหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอีกโจทย์ที่มีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงเล็งเห็นว่า การนำเทคโนโลยี ดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการของ บสย. ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้ได้มากขึ้นและลึกขึ้นในเรื่องของการช่วยเหลือ SMEs โดยชูศักยภาพที่เรียกว่า 3D คือ
1. Digital Wallet วันนี้มีอยู่ในมือของประชาชนทุกคนแล้ว ทุกธนาคารมีแอปพลิเคชันทางการเงิน และธุรกิจในระบบเศรษฐกิจมี Digital Wallet หมด
2. Digital Lending ทุกแพลตฟอร์มนั้นให้บริการสินเชื่อผ่านทางออนไลน์ แต่ทำใน Ecosystem ของตนเอง
3. Digital Credit Guarantee จะเป็นส่วนเติมเต็มทำให้กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ด้วยปัญหาเดิม คือเรื่องหลักประกัน เพราะกลุ่มเหล่านี้มีปัญหาคล้ายกันคือ บ้านติดจำนอง รถยนต์ยังผ่อนไม่หมด ธนาคารก็จะมองว่าเป็นอุปสรรคในการให้สินเชื่อ ดังนั้น 3D จะช่วยขับเคลื่อนศักยภาพใหม่ให้กับผู้ประกอบการ SMEs
ซึ่งในปัจจุบัน บสย. มุ่งเน้นการขยาย 2 บทบาทหลักของ บสย. คือ
1) การเป็น Credit Enhancer ในการเพิ่มศักยภาพการกู้ยืมของ SMEs ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินเชื่อ
2) การช่วยเหลือ SMEs ผ่านการเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาธุรกิจ โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) และ “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ซึ่ง บสย. ทำงานร่วมกับ ธปท. เพื่อสร้างพื้นฐานการดำเนินธุรกิจให้กับ SMEs ส่งเสริมศักยภาพ และผลักดันให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจที่มีปัญหาทางการเงิน
โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงแรงงาน, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อส่งเสริม SMEs และช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันและการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่ง บสย. เชื่อมั่นว่าทิศทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของ บสย. ดังกล่าว จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกจำนวนมาก ซึ่งสามารถสะท้อนความสำเร็จได้จากสัดส่วนการช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อโดยการค้ำประกันของ บสย. (Penetration Rate) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายปี 2565 คือ 25% จากจำนวน SMEs ทั้งประเทศ กว่า 3.1 ล้านราย
โดย ณ กุมภาพันธ์ 2565 บสย. ให้คำปรึกษาผ่าน บสย. F.A. Center แล้วกว่า 1,711 ราย แบ่งเป็นให้คำปรึกษาด้านการขอสินเชื่อ 1,103 ราย, ปรับโครงสร้างหนี้ 411 ราย, พัฒนาธุรกิจ 197 ราย และให้คำปรึกษา SMEs ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนที่ร่วมกับ ธปท. กว่าอีก 136 ราย
นอกจากนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center ทำหน้าที่ในการช่วยเติมความรู้ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานคู่ความร่วมมือให้แก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้สอดคล้องตามความต้องการและความเหมาะสมแล้วกว่า 4,353 ราย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้สามารถแข่งขันในโลกธุรกิจได้ โดยหลักสูตรอบรมครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การทำบัญชี และการตลาด อาทิ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่นิยมมาทำรายได้อย่างขายของผ่าน Line หรือ TikTok โดยจัดให้มีการจัดอบรมออนไลน์ฟรี โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่วยแนะไอเดียให้นำไปต่อยอดต่อไปได้
ทั้งนี้การขับเคลื่อนพัฒนา บสย. อย่างต่อเนื่อง สามารถสะท้อนภาพความสำเร็จได้จากผลประกอบการดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. โดยใน ปี 2564 ที่ผ่านมา บสย. สร้างสถิติค้ำประกันสูงสุดในรอบ 29 ปี วงเงิน 245,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เทียบกับปี 2563 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 226,312 ราย เพิ่มขึ้น 36% ก่อให้เกิดสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย 261,545 ล้านบาท หรือ 1.06 เท่าของยอดการค้ำประกัน เกิดการจ้างงานใหม่ มากกว่า 400,000 ตำแหน่ง รักษาการจ้างงาน มากกว่า 2,000,000 ตำแหน่ง
ในส่วนของปี 2565 ผลประกอบการ 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) ผลการค้ำประกัน 2 เดือนแรกของปี มีการเติบโต 15% หรือ 29,011 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปี 2564 ยอดค้ำฯ 25,278 ล้านบาท) จำนวนลูกค้า 25,049 ราย เป็นลูกค้ารายใหม่ 13,590 ราย และหนังสือค้ำประกัน (LG) 25,335 ฉบับ ทั้งยังได้ให้คำปรึกษาไปแล้ว 100 ราย และเสริมความรู้ผ่านการอบรมอีกกว่า 83 ราย ซึ่งจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ส่งผลให้ตัวเลขราคาสินค้า และพลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับ SMEs ไทยในภาพรวมไม่มากก็น้อย ดังนั้น บสย. จึงยิ่งต้องเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสภาพปัญหา เพื่อช่วยพยุง SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไม่หยุดชะงัก ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย.