"หมอธีระวัฒน์" ชี้ "โอมิครอน BA.2" รุนแรงกว่าเดิม แพร่เร็ว ติดซ้ำได้ เผยตัวแปรของคนที่จะมีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ย้ำฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังปลอดภัย ไม่กันติดเชื้อ แต่ป้องกันเสียชีวิต

วันที่ 21 ก.พ. 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง "จุดสูงสุดของโอมิครอน" ผ่านทางเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" โดยระบุว่า จุดสูงสุดต้องประกอบด้วย จุดยอดของการติดเชื้อ และจุดสูงสุดของคนที่มีอาการที่ต้องเข้าโรงพยาบาล จากนั้นจึงจะค่อยๆ ลดลง

สิ่งที่ต้องทราบก่อนคือ ข้อมูลการติดเชื้อตัวเลขจริง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีข้อมูลชัดเจน ทั้งนี้ในประเทศต่างๆ จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ สองวันไม่เกินสามวัน แต่ในประเทศไทยตัวเลขสูงขึ้นจริง แต่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นตามประเทศต่างๆ รายงาน ซึ่งแสดงถึงความจำกัดในการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นพีซีอาร์ หรือเอทีเคก็ตาม ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะคิดว่าอาการน้อยแล้ว และประกาศของทางการก็ไม่สนับสนุนในการตรวจตามสถานพยาบาลน้อยใหญ่ ยกเว้นคนที่มีความเสี่ยง (ซึ่งความจริงทุกคนมีความเสี่ยง)

การที่สามารถเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าในเวลาสองถึงสามวัน เนื่องจากว่าโอมิครอนสามารถทะลุทะลวงคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว แม้จะเป็นสามหรือสี่เข็มก็ตาม และแม้แต่คนที่เคยติดเชื้อแล้ว ตัวแปรของคนที่จะมีอาการหนักที่ต้องเข้าโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับ

- ความแข็งแรงของคนในประเทศ ว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด เทียบกับคนที่มีโรคประจำตัว
- คนที่มีภูมิที่ได้จากวัคซีน และจากการติดเชื้อเก่ามีมากเท่าใด และข้อสำคัญประสิทธิภาพคงเหลืออยู่หรือไม่

...

ทั้งนี้ ภูมิความจำ ไม่ว่าจะเป็นทีหรือบีเซลล์ ไม่ได้อยู่ติดคงนานตลอดไป และแม้แต่ภูมิที่ได้จากการติดเชื้อมาก่อน จากโควิดตัวอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน

ถ้าได้ “ตัวเลขจริง” มาจะสามารถทำนายได้จาก epidemic equation ที่มีมาตั้งแต่ปี 2000 SEIR susceptible exposure infection recovery และ reinfection ตลอดจนการบรรจุข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ย่อย หรือประเทศนั้นๆ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โอมิครอนจะจบเมื่อไหร่ เพราะอีกคงไม่นาน แต่ที่จะแทรกมาปัจจุบันทันด่วนก็คือโอมิครอนตัวน้อง BA.2 ซึ่งติดและแพร่เร็วกว่า และน่าจะติดซ้ำซ้อนได้ใหม่ และการศึกษาในสัตว์ทดลองมีอาการรุนแรงกว่า และยังขึ้นอยู่กับวาเรียนท์ใหม่ๆ

การฉีดวัคซีนขณะนี้ เมื่อถึงเข็มสาม ด้วยการฉีดที่ควรมีความปลอดภัยสูงสุดคือ การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ต้องเข้าใจว่าไม่กันติดแล้ว แต่น่าจะช่วยกันหนักหรือกันตาย และไปรอเข็มต่อไป ซึ่งต้องเป็นวัคซีนครอบจักรวาลโควิดทั้งเก่าและที่จะมาใหม่.