"หมอยง" เปิดข้อมูลการเกิด "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังให้วัคซีน mRNA ในวัยรุ่น พร้อมย้ำขณะนี้ "โควิด-19" ยังคุกคามอย่างหนัก การให้เด็กและวัยรุ่นได้รับวัคซีนมีประโยชน์ในการป้องกัน


วันที่ 6 ก.พ. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง "การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังให้วัคซีน mRNA ในวัยรุ่น" โดยระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนมีความจำเป็นในการป้องกันลดความรุนแรงของโรคโควิด-19

จากการศึกษาในอิสราเอล เผยแพร่ในวารสาร NEJM (26 ม.ค. 2022) เกี่ยวกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตามหลังการให้วัคซีนไฟเซอร์ในวัยรุ่นอายุ 12-15 ปี จำนวนประมาณ 400,000 คน สำหรับเข็มแรก และประมาณ 320,000 สำหรับเข็มที่ 2 โดยเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ข้อมูลที่ได้พบเช่นเดียวกับการศึกษาในอดีต คือการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกือบทั้งหมด จะเกิดขึ้นในเข็มที่ 2 และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงมาก

การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล ในเด็กชายหลังเข็ม 2 วัคซีนไฟเซอร์ จะพบ 1 ใน 12,361 ในการได้รับเข็ม 2 ส่วนเด็กหญิงจะพบน้อยกว่ามากในอัตรา 1 ใน 144,439 หรือน้อยกว่ากันเป็น 10 เท่า

สำหรับการวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะถูกแบ่งเป็น สงสัย, น่าจะเป็น และยืนยันการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในการยืนยันการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะต้องอาศัยการตรวจ echo ที่ชัดเจนมาก หรือ MRI หัวใจ หรือ การตรวจชิ้นเนื้อจากการใส่สายตัดมาตรวจ ดังนั้นข้อมูลที่แท้จริงถึงกับยืนยัน คงจะได้น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะการเกิดการอักเสบจำนวนมากมีอาการไม่มาก และหายได้เอง ส่วนภาพที่แสดงการยืนยัน เป็นรูปที่ได้จากการตรวจเด็กไทยหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และตรวจยืนยันว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะ echocardiogram และ MRI ภาพ echo จะเห็นนํ้าอยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericarditis)

...

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โรคโควิด-19 ยังคุกคามอย่างหนัก การให้เด็กและวัยรุ่นได้รับวัคซีนยังมีประโยชน์ ในการป้องกันความรุนแรงของโรค การตัดสินใจจะรับวัคซีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองโดยชอบธรรม ในการตัดสินใจที่ได้ข้อมูลครบถ้วน.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan