"อัศวิน" เปิดไลน์ @อัศวินคลายทุกข์ รับแจ้งทางม้าลายอันตราย ขณะที่ กทม.สำรวจทางข้าม พบเสี่ยง 100 จุด เร่งบูรณาการ ปรับปรุง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
เฟซบุ๊กเพจ "ผู้ว่าฯ อัศวิน" ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการปรับปรุงทางม้าลายในเขตพื้นที่ กทม. ว่า กทม. ได้แก้ไขปรับปรุงหลายๆ จุดที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์เตือน เช่น ทาสีทางม้าลายให้เห็นเด่นขึ้น ตีเส้นชะลอความเร็วในช่องจราจรก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อให้คนขับรถเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
และยังมีการเพิ่มปุ่มกดสัญญาณไฟแดงข้ามถนนพร้อมทั้งเสียงเตือนแล้ว ในบริเวณทางข้าม ทางแยกในหลายๆ แห่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกทางแยก ทางข้ามในกรุงเทพมหานคร เป็นจุดที่ปลอดภัยของคนเดินถนน
อย่างไรก็ตาม หากใครพบเห็น ทางม้าลาย ทางข้าม หรือทางแยก ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่มีไฟส่องสว่าง สีทางม้าลายไม่ชัดเจนหรือเด่นชัด มีสภาพที่เป็นอุปสรรคในการข้ามถนน หรือเป็นจุดเสี่ยงอันตราย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ สามารถแจ้งมาได้ที่ไลน์ @อัศวินคลายทุกข์ (ID : @aswinbkk) ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
นอกจากนั้น วันนี้ (28 ม.ค.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ประชุมได้หารือมาตรฐานและรูปแบบเส้นทางข้าม(ทางม้าลาย) ตามหลักวิศวกรรมจราจร การตรวจสอบข้อมูลเส้นทางข้ามในแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมและป้องกันอุบัติเหตุ การบังคับใช้กฎหมายข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม การกำหนดความเร็วในเขตชุมชน โดยเฉพาะในทางข้ามและการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบเครื่องหมายเส้นทางข้าม การติดตามการดำเนินการกำหนดใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาด 400 ซีซีขึ้นไป (บิ๊กไบค์) ระบบตัดคะแนน และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
...
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมวันนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมหารือมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในเส้นทางข้าม(ทางม้าลาย) โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่จุดเกิดอุบัติเหตุ บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท โดยเร่งด่วน
โดยจะติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามแบบกดปุ่ม ซึ่งจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งทาสีแดงและขยายความกว้างเส้นทางข้ามเพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ชัดเจน โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 วัน และการติดตั้งกล้อง CCTV AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเส้นทางข้าม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาติดตั้งประมาณ 30 วัน เพื่อเกิดความปลอดภัยสูงสุด
ส่วนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของเส้นทางข้าม ในเบื้องต้น กทม.จะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม รวมทั้งปรับกายภาพบริเวณทางข้ามที่สำรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยง จำนวน 100 จุด ส่วนจุดอื่นๆ จะดำเนินการปรับปรุงป้ายเตือน ป้ายกำหนดความเร็ว ทาสีแดงพื้นเส้นทางข้าม เส้นชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งนี้ ในพื้นที่ กทม. มีทางข้ามรวม 3,280 จุด ทำการติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบ 1,277 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาสีแดงพื้นเส้นทางข้ามแล้ว 430 จุด
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน