"อธิบดีกรมปศุสัตว์" แจ้งเตือนยกการ์ดทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในช่วง "เทศกาลตรุษจีน" พร้อมเร่งสร้างการรับรู้เรื่องเชื้อไวรัส ASF
วันที่ 19 ม.ค. 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE ได้มีจดหมายแจ้งเตือนประเทศสมาชิกให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเดินทางกลับบ้านไปเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ในขณะนี้ทุกประเทศยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้เข้มงวดจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
แต่คาดการณ์ว่า ยังคงมีการเดินทางภายในประเทศ ส่งผลให้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค ASF ในสุกร เนื่องจากอาจมีการนำผลิตภัณฑ์สุกรหรือเนื้อสุกรที่ยังไม่ได้ปรุงสุกไปพร้อมสัมภาระจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ไม่เกิดโรคได้ กรมปศุสัตว์จึงได้กำชับเร่งสั่งการไปยังหน่วยงานจังหวัดทั่วประเทศให้ยกระดับเข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับโรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ติดต่อเกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่แพร่ระบาดสู่คน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรและสุกรป่า ตั้งแต่ปี 2561 พบรายงานการเกิดโรค 50 ประเทศ ในทวีปแอฟริกา, เอเชียและยุโรป โดยโรคนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นอันตรายต่อสุกร และหากเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสุกร
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคดังกล่าว OIE จึงได้แจ้งเตือนและเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกเร่งสร้างการรับรู้ของประชาชน ว่าเชื้อไวรัส ASF ในสุกรมีความคงทนในเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรุงสุก รวมทั้งสามารถปนเปื้อนบนเสื้อผ้า รองเท้าและยานพาหนะได้ ทำให้เป็นช่องทางการแพร่กระจายของโรค และขอความร่วมมือประชาชนไม่นำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรุงสุกรจากพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีรายงานการเกิดโรคไปยังพื้นที่ที่ไม่เกิดโรค
...
รวมทั้งให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคซึ่งไม่เฉพาะโรค ASF ในสุกรเท่านั้น แต่รวมถึงโรคระบาดสัตว์อื่นๆ ด้วย โดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่ต้องปรุงสุกผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที
สำหรับ กรมปศุสัตว์ มีการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญนอกเหนือจากโรค ASF ในสุกรแล้วยังมีโรคไข้หวัดนก ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มงวด โดยไม่พบรายงานในประเทศมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่และหน่วยงานภายในประเทศ อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ OIE อย่างต่อเนื่อง.