เปิดใจ แม่ค้าสาวตลาดนัดขายไก่ เก็บแบงก์ 50 หยอดใส่ถังครบ 1 ปี เปิดออกนับดูได้เงินแสนบาท เผยอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาออมเงิน

จากกรณีที่มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก Parinatra Soonklang โพสต์ภาพถังน้ำดื่มสีขาว ภายในมีธนบัตรฉบับละ 50 บาทจำนวนมาก นับรวมมูลค่าเป็นจำนวนกว่า 1.4 แสนบาท พร้อมระบุข้อความว่า “สิ้นสุดการรอคอย.. ออมเงินตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2564 1 ปีเต็ม (365 วัน) ได้ 2,959 แบงก์ เป็นเงินทั้งหมด 147,950 บาท แบงก์ 100 อีก 32,900 บาท

ปล.งดดราม่านะคะ เป็นแม่ค้าได้ธนบัตรใบละ 50 บาทวันละหลายใบ เลือกเก็บเฉพาะใบใหม่ๆ ได้มาก เก็บมาก ไม่ได้จำกัดว่าต้องหยอดวันละกี่ใบ ขอบคุณตัวเอง..ที่อดทนได้มากขนาดนี้”

ล่าสุด วันที่ 3 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังตลาดนัด วัดโคกบำรุงราษฎร์ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก เพื่อไปพบกับแม่ค้าสาวตลาดนัด น.ส.ปริณตรา ศูนย์กลาง อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน "น้องอั่งเปาไก่สด" เจ้าของโพสต์ เปิดเผยว่า ตนเองขายไก่ตามตลาดนัดทุกวัน ได้เก็บแบงก์ 50 บาท หยอดเอาไว้ในถังน้ำดื่มที่หาเอาภายในบ้านง่ายๆ มาเป็นกระปุกออมสิน และเขียนวันที่ไว้บนถังว่า 1 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นหยอดแบงก์ลงไป

...

โดยได้แรงบันดาลใจมาจากชาวเน็ตที่แชร์การออมเงินในลักษณะที่ต่างๆ กัน ซึ่งการออมเงินครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่ง 2 ครั้งที่ผ่านมาสำเร็จและผ่านไปได้ด้วยดีทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น วิธีการเก็บเงินคือในแต่ละวัน จะได้รับแบงก์ 50 บาทจากลูกค้าเยอะมาก มองว่าแบงก์ 50 มีมูลค่าไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จึงเลือกเอาแบงก์ 50 ใหม่ๆ นำไปหยอดใส่ถังน้ำไว้ ไม่เจาะจงว่าวันหนึ่งจะต้องใส่กี่ใบ

แม่ค้าและลูกค้าที่ทราบว่า ตนชอบเก็บแบงก์ 50 บาท ก็จะนำมาซื้อของที่ร้านเป็นประจำ เริ่มหยอดใส่ถังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปีเต็ม จนเมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา ช่วงเช้าเวลา 09.09 น. ได้เปิดถังน้ำและนำเงินออกมานับ เอาเฉพาะแบงก์ 50 นับได้จำนวน 147,950 บาท

น.ส.ปริณตรา เปิดเผยอีกว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะว่าเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่เก็บเงินลักษณะแบบนี้ ทำให้ลุ้นไปด้วยว่า จะได้เงินมากหรือน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ที่ผ่านมาตนตั้งใจและมุ่งมั่นทำงาน ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มสุรา ตั้งใจหยอดเก็บออมทุกวัน ซึ่งจะไม่ให้กระทบกับเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ซื้อของในแต่ละวัน ส่วนเงินจำนวนนี้จะไปใช้หนี้ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และเก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูก และใช้จ่ายเป็นรางวัลชีวิตบ้าง

ส่วนเหตุผลที่นำเรื่องราวไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียล เพราะอยากโพสต์ถึงความภาคภูมิใจของตัวเอง และความประทับใจช่วงหนึ่งของชีวิตที่สำคัญ อยากให้เรื่องราวของตนเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ บ้าง ไม่จำเป็นต้องเก็บเฉพาะแบงก์ 50 ก็ได้ แบงก์ 20 หรือเหรียญ 10 มากน้อยไม่สำคัญ ขอให้เก็บได้เป็นพอ แต่ซึ่งสิ่งตรงนี้จะทำให้เรามีกำลังใจ ตั้งใจทำงานมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และปีนี้ก็ได้เก็บเป็นครั้งที่ 4 โดยตนเริ่มต้นเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เหมือนเดิม.