• "ถ้ำนาคา" ภายในอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ ที่สุดของสายมู กับตำนานความเชื่อเรื่อง "พญานาค"
  • วิทยาศาสตร์ กับคำอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ การแตกบริเวณผิวหน้าหินทรายขนาดใหญ่ จากความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยาย และหดตัวสลับไปมา จนมีลักษณะคล้ายเกล็ดงู
  • การเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นไปยังถ้ำนาคา นักท่องเที่ยวจะต้องจองคิวผ่านแอปฯ "QueQ" และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทางจังหวัดอย่างเคร่งครัด



หลังจากมีนโยบายเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดเริ่มเปิดให้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่

ซึ่งหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น "ถ้ำนาคา" ถ้ำที่ถูกค้นพบใหม่ ภายในอุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ นอกจากนักท่องเที่ยวที่อยากขึ้นไปชมความสวยงาม ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติแล้ว นักท่องเที่ยว "สายมู" ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ก็ไม่พลาดที่จะเยือนสักครั้งในชีวิต

...


ถ้ำนาคา ตำนาน ความเชื่อเรื่อง "พญานาค"

เกี่ยวกับตำนานของ "ถ้ำนาคา" นั้น มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา สรุปได้ 7 ตำนานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ตำนานพญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน, "เมืองหลวงของชาวบังบด" หรือเมืองลับแล, ตำนานดินแดนแห่งเมืองพญานาคราช (เมืองบาดาล), ตำนานดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์, ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส (พระธุดงค์กรรมฐาน), ตำนานดินแดนอาถรรพณ์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และ "ดินแดนสมุนไพร" ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์

ซึ่งหนึ่งในตำนานที่เราจะได้ยินเป็นเรื่องเล่าบ่อยๆ คือ "ตำนานพญานาค" ที่ถูกสาปเป็นหิน จากเรื่องปู่อือลือ ที่ข้องเกี่ยวกับภูลังกาและบึงโขงหลง เชื่อว่าเกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมืองชื่อ รัตพานคร มีพระอือลือราชา เป็นผู้ครองนครมีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อพระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปงามด้วยขณะประสูติมีท้องฟ้าสว่างไสว

ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาลที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬารทั้งเมืองบาดาลและเมืองมนุษย์(รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย

ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม โดยข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร

และถึงแม้นางจะร่ายมนตร์กลับเป็นมนุษย์ ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกไพร่พลมาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้

พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น "บึงหลงของ" ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นโขงหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วัดดอนโพธิ์ (วัดโพธิสัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก)

ส่วนพระอือลือราชาไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพญานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาค เฝ้าอยู่ในภูลังกา หรือบึงโขงหลง ชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพญานาคราชได้ 

วิทยาศาสตร์ คำอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ


ขณะที่ในมุมของวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ทำให้หินบริเวณถ้ำนาคา มีเป็นเกล็ดงู หรือเกล็ดปลา ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นหินทรายขนาดใหญ่ หินที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดงูนั้น ทางธรณีวิทยา เรียกกันว่า "ซันแครก" (Sun Crack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดลักษณะเป็นชั้นๆ

ถ้ำนาคี
ถ้ำนาคี

"ถ้ำนาคี" ธรรมชาติที่สวยไม่แพ้กัน

นอกจากถ้ำนาคา ฝั่งบึงกาฬแล้ว หากใครไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูลังกา ฝั่ง อ.บ้านแพง จ.นครพนม สามารถไปชมความสวยงามของ "ถ้ำนาคี" ได้ ซึ่งถ้ำนาคีแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกับถ้ำนาคา หินทรายเกิด "ซันแครก" คล้ายเกล็ดพญานาคหลายจุด 

โดยบริเวณถ้ำนาคีนี้ มีหินขนาดใหญ่ คล้ายเศียรพญานาค รวม 9 เศียร ที่มีความสวยงาม ลงตัวตามธรรมชาติ และเศียรที่ 9 ที่พบล่าสุดนั้น ก็มีลักษณะคล้ายเศียรพญานาคมาก เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยว ที่อยากจะขึ้นไปชมความสวยงามของธรรมชาติ และขอพรตามความเชื่อ ความศรัทธาใน "พญานาค"

สำหรับถ้ำนาคี ห่างจากที่ตั้งอุทยานแห่งชาติภูลังกา ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางแนวผจญภัย ปีนเขา แต่สามารถเดินไปได้ ซึ่งพบว่ามีจุดชมวิวหลายจุด อาทิ ผานาคี ที่สามารถมองเห็นความงดงามของแม่น้ำโขง น้ำตกนาคี น้ำตกที่ซ่อนตัวอยู่กลางธรรมชาติ ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน


อยากเที่ยวถ้ำนาคา-นาคี ต้องจองผ่านแอปฯ "QueQ"

นายพันธ์ยศ กีรติพงศ์ศักดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกา กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา ได้เปิดให้บริการแล้ว ทั้งน้ำตกตาดวิมานทิพย์ น้ำตกตาดโพธิ์ น้ำตกตาดขาม และถ้ำนาคา นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมต้องจองคิวผ่านระบบ แอปพลิเคชัน “QueQ” ของกรมอุทยานก่อน โดยสามารถรองรับการเข้าชมได้ครั้งละไม่เกิน 430 คน

เมื่อมาถึง นักท่องเที่ยวสามารถยื่นหลักฐานการจองให้เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามขั้นตอนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจะใช้วิธีบริหารการท่องเที่ยวแบบ New Normal ได้แก่ การคัดกรองวัดอุณหภูมิ, การเว้นระยะห่างทางสังคม, การรักษาความสะอาดของพื้นที่ ฯลฯ สแกนเข้าและออกสถานที่ผ่านระบบ "ไทยชนะ" หรือระบบลงทะเบียนอื่นๆ

สำหรับมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 สำหรับบุคคลที่จะมาเที่ยวชมถ้ำนาคา กรณีที่ 1 บุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดงเข้ม (7 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) จำเป็นจะต้องมีหลักฐานและปฏิบัติ ดังนี้
1. ต้องทำการลงทะเบียนก่อนเข้าจังหวัดบึงกาฬ ที่ลิงก์ของจังหวัด (คลิกที่นี่ก่อนเข้ารายงานตัวที่ด่านชุมชนในพื้นที่
2. แสดงผลตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR หรือ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง
3. ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Sinovac/Sinopharm/Astrazeneca/Pfizer) ครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ Johnson&Johnson 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
4. รายชื่อที่จองผ่านแอปฯ QueQ

หากหลักฐานไม่ครบทั้ง 4 อย่าง ไม่สามารถขึ้นถ้ำนาคาได้ 

กรณีที่ 2 บุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดงและสีส้ม (38 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัดพื้นที่ควบคุม และ 5 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสูง) จำเป็นจะต้องมีหลักฐานและปฏิบัติ ดังนี้

1. ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Sinovac/Sinopharm/Astrazeneca/Pfizer) ครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ Johnson&Johnson 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
2. รายชื่อที่จองผ่านแอปฯ QueQ

หากหลักฐานไม่ครบทั้ง 2 อย่าง ไม่สามารถขึ้นถ้ำนาคาได้ โดยนำหลักฐานแสดงต่อ "เจ้าหน้าที่อุทยานฯ" ที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ณ จุดลงทะเบียน

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวทุกคนที่จะเข้าพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) การจองคิว จองได้ไม่เกิน 15 วัน ผ่าน "แอปพลิเคชัน QueQ" รับจำนวน 430 คน/วัน (ดูขั้นตอนการจองได้ที่นี่)

ทั้งนี้ การจองคิวผ่านแอปฯ QueQ นั้น จะต้องกรอกชื่อ-สกุลจริงให้ตรงกับผู้ที่จะขึ้นไปที่ถ้ำ โดยไม่สามารถมาแทนกันได้ 



ปักหมุดให้ถูกก่อนเดินทาง 



สำหรับนักท่องเที่ยวที่จองคิวเรียบร้อย เก็บกระเป๋าพร้อมเดินทางแล้วนั้น ต้องปักหมุดให้ถูกด้วย เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ จ.นครพนม และ จ.บึงกาฬ โดยถ้ำนาคา อยู่ที่ ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หากต้องการเดินทางมา ปักมุดมาที่ "น้ำตกตาดวิมานทิพย์" ได้เลย โดยแต่ละกลุ่มจะมีการเปิดให้ขึ้นห่างกัน 30 นาที ตามมาตรการเว้นระยะห่าง 

ส่วนการเดินทางขึ้นไปยังถ้ำนาคานั้น จะขึ้นได้ทางเดียวคือ บริเวณ "สำนักสงฆ์ฐิติสาราราม" (วัดตาดวิมานทิพย์) เส้นทางน้ำตกตาดวิมานทิพย์ จุดนี้ระหว่างทางจะพบประตูเต่า หินหัวเรือ หัวนาคาหัวที่ 3 และเมื่อขึ้นถึงบนเขาจะมีทางไปพบหัวนาคาหัวที่ 1 ซึ่งเส้นทางเดินนั้น จะเป็นทางเดินป่าขึ้นเขา 2 กิโลเมตร เป็นทางดินสลับกับบันได และมีบางช่วงจะต้องดึงเชือก เส้นทางเดินป่าชัดเจนมีป้ายบอกทาง และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ เพื่อแนะนำและรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

โดยคำแนะนำคือ ควรเดินขึ้นเขาในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 7.00-12.00 น. เพื่อจะได้มีเวลาไปเที่ยวชมในจุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ประตูเต่า (อยู่ระหว่างทางขึ้น), หินหัวเรือ (อยู่ระหว่างทางขึ้น), หัวนาคา หัวที่ 3 (อยู่ระหว่างทางขึ้น), น้ำตกตาดวิมานทิพย์ (ปัจจุบันไม่มีน้ำ), หัวนาคา หัวที่ 1, ถ้ำหลวงปู่วัง, เจดีย์หลวงปู่วัง, ถ้ำนาคา, เจดีย์หลวงปู่เสาร์ และ ผาใจขาด ซึ่งตอนนี้ปิด เนื่องจากหินที่ยื่นทางหน้าผาร้าว ซึ่งระยะเวลาในการเที่ยวชมทุกจุดนั้น ใช้เวลาราว 5 ชม. ซึ่งทางอุทยานฯ กำหนดให้ลงจากเขา ถึงพื้นล่าง ก่อนเวลา 17.00 น. โดยไม่มีการอนุญาตให้ทำการค้างคืน หรือกางเต็นท์บริเวณถ้ำนาคาโดยเด็ดขาด



ใจพร้อม กายต้องพร้อมด้วย


ด้วยเส้นทางที่จะเดินไปยังถ้ำนาคานั้น มีทั้งทางดิน และทางบันได อีกทั้งบางจุด ต้องดึงเชือกผ่านจุดลาดชัน ดังนั้น การแต่งกาย ต้องพร้อมสำหรับเดินป่า นอกจากนี้ ควรเตรียมน้ำดื่มใส่กระเป๋า ยาดม หรือของใช้ส่วนตัวให้พร้อม โดยห้ามนำห้ามนำกระดาษทิชชู หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเซ่นไหว้ ขึ้นเขาโดยเด็ดขาด

สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไขข้อ ไม่แนะนำให้ขึ้น รวมถึง หญิงตั้งครรภ์ และนักท่องเที่ยวที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ส่วนเด็กนั้น แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ควรขึ้น

ขณะที่ค่าธรรมเนียมในการเที่ยวชมถ้ำนาคาและน้ำตกตาดวิมานทิพย์ ผู้ใหญ่ 30 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 20 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท) ส่วนเด็ก 20 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 10 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท) ค่ามัดจำขยะ 100 บาท/กลุ่ม 

น้ำตกผางอย - ผานาคี
น้ำตกผางอย - ผานาคี


วางแผนเดินทาง เพื่อความสะดวก

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบินนั้น สามารถไปลงที่สนามบินนครพนม ซึ่งจะห่างจากถ้ำนาคาประมาณ 140 กิโลเมตร ส่วนสนามบินจังหวัดอุดรธานี จะห่างจากถ้ำนาคาประมาณ 180 กิโลเมตร แต่หากใช้บริการรถโดยสาร แนะนำลงที่ อ.บึงโขงหลง และค้นหาที่พักใน อ.บึงโขงหลง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากทางขึ้นถ้ำนาคา เพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น 

อ่อ แล้วแอบกระซิบหน่อยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แนะนำว่า หากจะมาเที่ยวถ้ำนาคา แนะนำให้มาเที่ยวหน้าหนาว อากาศจะดีมากๆ แถมไม่ร้อนด้วย ว่าแล้วหนาวนี้ สายลุย สายมู ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง.

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun