นายสัตวแพทย์เกษตร ชี้แจงผลกระทบของการให้ "เหยี่ยวแดง" กิน "มันหมู" พร้อมแนะทางแก้ระยะยาว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ สัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โพสต์ข้อความเรื่อง "มันหมู กับ เหยี่ยวแดง" โดยระบุว่า มีรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ส่งข้อความมาแสดงความห่วงใยถึงการท่องเที่ยวชมเหยี่ยวแดงกินอาหารในป่าชายเลน ทางจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งในภาพที่ส่งมามีการใช้มันหมูหั่นเป็นเส้นบางๆ โยนลงบนน้ำ ด้วยเพราะมีน้ำหนักเบาและลอยน้ำ

จากนั้นเหยี่ยวแดงจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศก็จะมาโฉบกิน เป็นภาพที่น่าตื่นตาสำหรับนักท่องเที่ยวยิ่งนัก เช่นเดียวกับที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย แต่ส่วนตัวในฐานะสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์รักษานกชนิดต่างๆ ทั้งในป่าและในกรงเลี้ยง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 และเมื่อปีก่อนก็เคยเข้าไปชี้แจงเรื่องนี้กับ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาแล้วในฐานะผู้เชี่ยวชาญ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำหรับอาหารตามธรรมชาติที่เหยี่ยวแดงกิน คือ กบ, เขียด, ปู, งู, ปลา และนกชนิดต่างๆ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายทั้งชนิดและสารอาหาร จะเห็นว่าไม่มีการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ หรือกินซากสัตว์ขนาดใหญ่เลย ด้วยเพราะโครงสร้างร่างกายของเหยี่ยวแดงไม่อำนวยนั่นเอง โดยมักจะบินร่อนไปเรื่อยทั้งวัน และโฉบลงเพื่อล่าเหยื่อด้วยกรงเล็บ

จากนั้นก็ไปเกาะเพื่อกินอาหาร หรือถ้าอาหารมีขนาดเล็กก็จะกินกลางอากาศ ตกค่ำก็หาต้นไม้ใหญ่เกาะนอนหลับ เช้าก็ออกไปหากิน จากนั้นวิถีชีวิตก็วนเช่นนี้เรื่อยไปตลอดชีวิต จะเห็นว่าวันๆ หนึ่งเหยี่ยวแดงใช้พลังงานและเวลาเยอะมาก กว่าจะได้กินอาหารในแต่ละครั้ง ซึ่งนี่เป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติที่ถูกต้องแล้ว ฉะนั้นมันหมูจึงไม่ใช่อาหารของเหยี่ยวแดงตามธรรมชาติ และถ้ายังมีการให้อาหารชนิดนี้โดยมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป จะทำให้เกิด 3 เหตุการณ์

...

1. เหยี่ยวแดงจะได้รับอาหารที่มีไขมันมากเกินไป จนเกิดโรคอ้วนและมีภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นอาการป่วยเรื้อรังชนิดหนึ่ง ทำให้อัตราการสืบพันธุ์ลดลง เช่น ไม่วางไข่เพราะอ้วนมาก ไข่ไม่ฟักเพราะไม่มีเชื้อ และภาวะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากจะเกิดภาวะตับวาย และตายในที่สุด ยังจะส่งผลให้ประชากรเหยี่ยวแดงในย่านนั้นค่อยๆ ลดลงอย่างถาวร ด้วยเพราะมนุษย์ทำให้เกิดขึ้น

2. พฤติกรรมของเหยี่ยวแดงตามธรรมชาติจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าหามนุษย์มากขึ้น เพราะมีอาหารให้ฟรีและง่ายๆ จึงเกิดความขี้เกียจและรักสบาย ไม่ต้องออกไปหากินไกลๆ แต่การท่องเที่ยวไม่ได้มีทุกวัน ไม่ได้มีทั้งปี ส่วนใหญ่ก็วันหยุดและช่วงปิดเทอม คนจึงไม่ได้ให้อาหารเหยี่ยวแดงทุกวัน แต่เหยี่ยวแดงที่คุ้นชินแล้ว ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ นกก็จะมารออาหารทุกวัน แถมตรงเวลาด้วย ปรากฏการณ์นี้จะทำให้สัตว์เล็กๆ ที่เป็นเหยื่อตามธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเมื่อมีการรวมตัวของเหยี่ยวแดงแต่ไม่ได้กินก็จะหิว และมีการล่าเหยื่อในพื้นที่นั้นอย่างหนักไปด้วย

3. เมื่อมีโอกาส ย่อมมีวิกฤติซ่อนอยู่เสมอ เพราะเราทราบกันเป็นอย่างดีว่าในประเทศไทยยังมีผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงนกล่าเหยื่อเป็นสัตว์เลี้ยงกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเหยี่ยวแดงก็ถูกลักลอบจับอย่างผิดกฎหมาย เพื่อนำมาเลี้ยงเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

ฉะนั้นที่ใดมีการรวมตัวของเหยี่ยว ย่อมมีนักล่าเหยี่ยวเพื่อจับไปขายรวมตัวอยู่ด้วยเสมอ เพราะมีคนรอซื้ออยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมากว่า การเลี้ยงเหยี่ยวแดงในธรรมชาติด้วยการให้อาหารนี้ จะไปเปิดทางให้กับนักล่าสัตว์ผิดกฎหมายได้ ซึ่งปลายทางของเหยี่ยวที่ถูกจับไปเหล่านี้ มักจะไปจบที่เลี้ยงแล้วตาย พอเบื่อก็เอาไปไว้ที่สวนสัตว์ และสถานีเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานฯ ซึ่งไม่มีวันได้กลับมาสู่ธรรมชาติอีกแล้ว โดยส่วนตัวขอเสนอทางแก้ ดังนี้

1. เปลี่ยนอาหารที่ให้เหยี่ยวแดง จากมันหมูเป็นปลาขนาดเล็ก ที่ชาวประมงหาได้ตามชายฝั่ง ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติของเหยี่ยวแดงอยู่แล้ว ถ้ากลัวปลามันไม่ลอยน้ำ ก็นำกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา ฉีดลมเข้าไปในท้องปลา เดี๋ยวมันก็ลอยน้ำได้เอง จนเหยี่ยวเห็นชัด และโฉบกินโชว์นักท่องเที่ยวเหมือนเดิม

2. จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ของชุมชนไปตามปกติ แต่กิจกรรมให้อาหาร จะมีเพียงช่วงวันหยุด เพื่อให้วันที่เหลือ เหยี่ยวแดงจะได้ออกไปบินหากินที่อื่น ได้ออกกำลังกาย และทำหน้าที่ตามตามธรรมชาติ อีกทั้งยังจะเพิ่มการมาซ้ำของนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเท่ากับเพิ่มเม็ดเงินเข้ามาในชุมชน

3. จัดอาสาสมัครจากคนในชุมชน ให้เฝ้าระวังการล่าเหยี่ยวแดงไปเป็นสัตว์เลี้ยง หรือปกป้องการทำลายป่าโกงกาง ซึ่งเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของเหยี่ยวแดง โดยประสานงานร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อความยั่งยืนของประชากรเหยี่ยวแดงในพื้นที่ระยะยาว

4. ถ้าทำตามนี้แล้วในอนาคตมีใครมาท้วงติงใดๆ ทั้งชาวไทย หรือต่างชาติ ชาวชุมชนก็สามารถอธิบายได้ว่า กิจกรรมนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของสัตว์ป่าแล้ว แถมได้ทำงานอนุรักษ์เหยี่ยวแดงเพื่อความยั่งยืนด้วย

อย่างไรก็ตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นนี้จะช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชนมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เพราะโดยภาพรวมก็เห็นว่ามีกิจกรรมปลูกป่าโกงกาง ล่องเรือชมธรรมชาติของป่าชายเลน ดูวิถีชุมชน ทำขนม พักโฮมสเตย์ ทานอาหารทะเลสดๆ จากชาวประมงชายฝั่ง ที่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงมากขึ้น.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Save Gurney Pitta