- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าฉีดวัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์) ให้เด็ก อายุ 12-17 ปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด ท่ามกลางความกังวลของผู้ปกครอง เกี่ยวกับโรค "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"
- กุมารแพทย์ชี้ จากข้อมูลพบว่า การฉีดวัคซีนในเด็กครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันโรคโควิด ได้มากกว่า 90% แม้จะเป็นสายพันธุ์เดลตา
- แพทย์โรคหัวใจ ชี้เด็กที่ป่วยโควิด ก็อาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้เช่นกัน ยกประโยชน์ชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครอง ควรให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA หรือไม่
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้มีการฉีดวัคซีน mRNA (ตอนนี้ในประเทศไทยมีเฉพาะไฟเซอร์) ในเด็ก อายุตั้งแต่ 12-17 ปี เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียน รวมถึง เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด-19 หากมีการประเมิน เพื่อพิจารณาเปิดการเรียนการสอน แบบ On-Site ให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็ก ผู้ปกครองหลายคนอาจมีข้อกังวลในเรื่องผลข้างเคียงจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งผลวิจัยชี้ว่า มักพบผลข้างเคียงนี้ในเด็กชาย มากกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้มีการพิจารณาการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็กหญิง 2 เข็ม ส่วนเด็กชาย ให้ฉีดเพียงเข็มเดียวก่อน
...
ทำให้ผู้ปกครองหลายคน ยังกังวลว่า วัคซีน mRNA ดีต่อเด็กจริงๆ หรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า เราควรอนุญาตให้บุตรหลานฉีด เพื่อสร้างภูมิต้านทาน หรือจะดีกว่าไหม ถ้าเราใช้วิธีป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดไปเรื่อยๆ โดยยังไม่ให้รับวัคซีน แล้วรอจนกว่า จะมีวัคซีน mRNA เจเนอเรชันที่ใหม่กว่านี้ออกมา ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
เด็กก็มีโอกาสติด "โควิด" และมีอาการรุนแรง
ทั้งนี้ ในการเสวนา เรื่อง “วัคซีน mRNA ในเด็ก ดีจริงไหม อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไรดี” จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีการพูดถึงวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากสารพันธุกรรม (mRNA) ของเชื้อโควิด-19 เมื่อ mRNA เข้าสู่เซลล์ร่างกาย สามารถสร้างชิ้นโปรตีน (Spike Protein) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิต่อเชื้อ โดยร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างแอนติบอดี เพื่อช่วยกำจัดเชื้อ ทำให้ไม่ติดเชื้อไวรัส และไม่ป่วย
โดย ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ แพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดเชื้อสะสมกว่า 2 แสนคน หรือประมาณ 10% ของผู้ติดเชื้อ อาการส่วนใหญ่ที่พบ แม้อาการปอดบวมจะไม่รุนแรงเหมือนในกลุ่มผู้ใหญ่ หรือสูงอายุ แต่พบว่ามีภาวะโควิดรุนแรง เช่น อาการท้องเสีย และ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กก็มีโอกาสติดโควิด-19 ได้เหมือนผู้ใหญ่ แม้หลายคนจะบอกว่า ช่วงนี้เด็กเรียนออนไลน์ ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน
ส่วนวัคซีนที่ใช้ในเด็กตอนนี้ วัคซีนที่มีงานวิจัย และได้รับการอนุญาต จะเป็นวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยวัคซีนไฟเซอร์จะฉีด 2 เข็มห่างกัน 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ โดยยืนยันว่า วัคซีนจะไม่สามารถเปลี่ยนสารพันธุกรรมของร่างกายได้ แต่จะสามารถป้องกันโรค ได้มากกว่า 90%
ในเรื่องของความปลอดภัย งานวิจัยพบว่า วัคซีนชนิด mRNA สามารถป้องกันโรคได้ดีในเด็กอายุ 12-18 ปี โดยข้อมูลจากสหรัฐฯ ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ในเดือน มิถุนายน-กันยายน 2564 พบเด็กป่วยโรคโควิด 179 ราย เทียบกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคอื่น 285 ราย
ซึ่งหลังจากที่เด็กได้รับวัคซีนแล้ว อาการที่พบได้ จะมีทั้งปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ปวดหัว ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนที่เคยได้รับวัคซีนไม่ว่าจะชนิดไหน ก็จะคุ้นเคยกับอาการเหล่านี้ โดยจะมีอาการในช่วง 1-3 วันแรกเท่านั้น
แต่สิ่งที่ผู้ปกครองหลายคนกังวล คือ เรื่องของ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” ซึ่งมักจะเกิดในเด็ก มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ใช่อาการหัวใจขาดเลือด อย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งอาการนี้ สามารถหายเองได้ในเวลาไม่นาน ผู้ปกครองจึงต้องชั่งใจว่า จะเลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน เพราะการระบาดของโรคโควิด คงยังไม่จบในช่วงเวลาอันใกล้นี้
ศ.พญ.ธันยวีร์ บอกด้วยว่า ในฐานะกุมารแพทย์ และผู้ปกครองของเด็กในช่วงวัยรุ่น มองว่า ควรให้เด็กได้รับวัคซีน และการให้วัคซีน 2 เข็ม จากข้อมูลเชื่อว่ามีความปลอดภัย และสามารถควบคุมโรคได้
“กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” อาจเจอในเด็กที่ติดโควิดได้เช่นกัน
ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์โรคหัวใจ ศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจคือ หากไม่ฉีดวัคซีนผลจะเป็นอย่างไร เด็กจะติดเชื้อหรือไม่ ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงไหม ส่วนเรื่องของผลข้างเคียงจากวัคซีน ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีวัคซีนตัวใหม่เข้ามา แต่เราต้องเข้าใจอย่างไม่มีอคติ หรือเข้าใจอย่างไม่คาดเคลื่อน บนพื้นฐานของข้อมูลที่มี
ซึ่งผู้ปกครองหลายคน อาจจะเคยได้ยินว่า เด็กเมื่อติดเชื้อ จะมีอาการไม่หนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ติดเชื้อ จะมีอาการหนัก จนต้องเข้าไอซียูไม่ได้ ซึ่งจากการคาดการณ์ เราต้องอยู่กับการระบาดของโรคนี้ ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
ทั้งนี้ ผู้ปกครอง อาจจะต้องประเมินจากพฤติกรรมของบุตรหลาน การจะกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน หรือเข้าไปในพื้นที่ชุมชน โดยไม่ได้รับวัคซีน มีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่ อย่าง "เดลตา" ซึ่งมีการระบาดรุนแรง และมีความสามารถที่จะดื้อวัคซีน หรือหลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีนบางชนิดได้ หากมีภูมิต้านทานไม่สูงพอ
นอกจากนี้ หากเด็กติดโควิด-19 แล้ว ยังมีภาวะที่ต้องระวังอย่าง ลองโควิด (Long COVID), ภาวะ "มิสซี" การอักเสบทั่วร่างกาย หรือ แม้แต่ภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ก็อาจจะเจอในเด็กที่ติดเชื้อโควิดได้เช่นกัน ดังนั้น อยากให้คิดเสมอว่า "เราจะปลอดภัย ก็เมื่อทุกคนปลอดภัย"
"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" สามารถหายได้เอง
นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวถึง โรค "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ว่า เป็นโรคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีสาเหตุมากมาย รวมไปถึงโรคติดเชื้อ หรือสารพันธุกรรมผิดปกติ รวมถึงไวรัสโควิด-19 เอง ก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้เช่นกัน อัตราที่พบ 450 ในล้านคน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า ผลข้างเคียงจากวัคซีน mRNA ถึง 6 เท่า
สำหรับ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ที่เป็นผลมาจากวัคซีน mRNA นั้น มักพบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มักพบในเพศชาย มากกว่าเพศหญิงถึง 6-8 เท่า และมักเกิดหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ส่วนใหญ่อาการจะปรากฏภายใน 3 วัน หลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งกลไกการเกิด "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" เป็นเรื่องที่ยังไม่ทราบแน่ใจ
ซึ่งผู้ที่มีอาการ จะรู้สึกเจ็บหน้าอก มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ประกอบกับค่า Troponin ในเลือดที่สูง ก็จะประเมินได้ว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ แต่อาการทั้งหมดไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้ ซึ่ง 90% ของผู้ป่วยที่พบหลังฉีดวัคซีน มีการฟื้นตัวของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กลับมาเป็นปกติในเดือนที่ 3
ขณะที่ข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 16-18 ปี ทั้งชายและหญิง จำนวน 2 เข็ม ส่วนอายุ 12-16 ปี ฉีดวัคซีน 2 เข็มในเด็กผู้หญิง ส่วนเด็กชายอาจให้เป็นวัคซีนทางเลือก ในเข็มที่ 2 หากมีการชี้ให้ผู้ปกครองทราบถึงผลดีผลเสียของวัคซีนแล้ว ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปี ที่ป่วยมีโรคประจำตัว ควรได้รับวัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็ม เพราะหากมีโรคประจำตัว และติดโควิดซ้ำ อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงได้.
ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun