- ต่างประเทศ เดินหน้าฉีดวัคซีน mRNA ให้เด็กช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป
- เปิดแผนวัคซีนให้เด็กไทย ช่วงอายุระหว่าง 12-17 ปี เพื่อให้ทันกับการเปิดภาคเรียน 2/2564
- คำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12 ขึ้นไป จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ หลังฉีดควรงดออกกำลังกาย อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ร่วมกับการสังเกตอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
อย่างที่รู้กันว่า "วัคซีนโควิด" เป็นอาวุธสำคัญ ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในประเทศ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต ซึ่งข้อมูล จำนวนการได้รับวัคซีนสะสมของประชากรในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 14 ก.ย. 2564 พบว่า มีผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 27,769,095 ราย, ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 13,260,456 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม 617,550 ราย
ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนตอนนี้ จะเป็นบุคลากรด่านหน้า ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว ยังมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง สาวตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากในช่วงแรกวัคซีนโควิดถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งรีบ ให้สามารถนำมาฉีดให้คนทั่วโลกได้ โดยผ่านการศึกษาราวหนึ่งปีเท่านั้น ขณะที่วัคซีนชนิดอื่น ใช้เวลานานกว่ามาก ทำให้ยังไม่มีการศึกษาการให้วัคซีนในกลุ่มเด็ก ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ดังนั้นการขึ้นทะเบียน จึงยังให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีเช่นกัน
แต่ไม่ใช่ว่า "เด็ก" ติดโควิดไม่ได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ที่ติดโควิด มักจะไม่มีอาการ โอกาสเสียชีวิตน้อย นอกจากเด็กที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย อาทิ เบาหวาน, ไตวายเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ, โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
...
ได้ประโยชน์ คุ้มเสี่ยงหรือไม่?
ขณะที่ ในต่างประเทศ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กอายุ 12-15 ปี ยังคงเป็นข้อถกเถียง ว่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ หลังรายงานของคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติฉีดวัคซีนให้เด็ก อายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กช่วงอายุเดียวกัน ที่มีสุขภาพดี เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่าอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากโรคโควิดในกลุ่มอายุนี้ยังอยู่ในระดับต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงด้านสุขภาพ จากการฉีดวัคซีนในระยะยาวที่อาจจะรุนแรงมากกว่า
ในสหราชอาณาจักรเอง รัฐบาลมีทีท่าว่าจะเดินหน้าให้เยาวชนอายุ 12-15 ปี ได้รับวัคซีนตามแผนเดิม เพื่อให้การเปิดเรียนไม่สะดุด โดยรัฐบาลกำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) อยู่
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด หลายชาติในสหภาพยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ก็เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้เด็ก อายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว ส่วนในเอเชียเอง รัฐบาลฮ่องกง ก็มีเริ่มฉีดวัคซีนโควิด ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้วเช่นกัน เหตุผลก็คล้ายๆ กับในหลายประเทศ เพื่อต้อนรับการเปิดเรียนของเด็กๆ ให้พวกเขาได้กลับมามีชีวิตปกติ
"เด็กไทย" กับ "วัคซีนโควิด"
สำหรับในประเทศไทยเอง ก่อนหน้านี้มีการอนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 12-18 ปี (เกิดในระหว่างปี 2546-2552) ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่
- โรคอ้วน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่อาการปานกลางหรือรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- โรคเบาหวาน
- โรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง ที่มีพัฒนาการช้า
ก่อนที่ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติเห็นชอบการให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง โดยจะเริ่มภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้เด็กกลุ่มนี้ ก็คือ วัคซีนชนิด mRNA ของ “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” จำนวน 30 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในประเทศไทยช่วงปลายเดือนกันยายนนี้
เป้าหมายสำคัญของการฉีดวัคซีนให้เด็กในครั้งนี้ คงไม่ต่างอะไรกับในหลายประเทศ ที่ต้องการให้โรงเรียนสามารถเปิดเทอมได้ นักเรียนไปโรงเรียนได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ใช้ควบคุมโรคระบาด โดยต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเฉพาะการนำมาใช้กับเด็ก รับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564
สำหรับ "เด็ก" ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน 4.8 ล้านคนที่จะได้รับวัคซีน "ไฟเซอร์" 2 เข็ม ได้แก่ นักเรียนที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
โดยจะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน พร้อมตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน สำหรับสถาบันการศึกษาที่นักเรียน นักศึกษามีอายุเกิน 18 ปี ก็สามารถให้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้โดยอนุโลม
โดยไทม์ไลน์การฉีด "ไฟเซอร์" ให้แก่นักเรียน เริ่มดังนี้
- 10-17 ก.ย. 64 โรงเรียน/สถานศึกษาจัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียน
- 17-22 ก.ย. 64 โรงเรียน/สถานศึกษา ทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลผู้ปกครอง
- 2-24 ก.ย. 64 โรงเรียน/สถานศึกษา เชิญผู้ปกครองแจ้งความประสงค์ ให้นักเรียนเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์
- 25 ก.ย. 64 โรงเรียน/สถานศึกษา นำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่จะรับไฟเซอร์ส่ง ศธจ.
- 28-30 ก.ย. 64 ศธจ. วางแผนและกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน
- 1 ต.ค. 64 โรงเรียน/สถานศึกษา รับทราบกำหนดการฉีดวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่
- 4 ต.ค. 64 เริ่มการฉีดวัคซีนแก่นักเรียน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้เด็ก ก็จะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ผ่านขั้นตอนการทดสอบคุณภาพแล้ว จะเร่งฉีดให้นักเรียนช่วงต้นเดือนตุลาคมตามความสมัครใจ และความยินยอมจากผู้ปกครอง สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนที่จัดหามาฉีดให้นักเรียน เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงช่วงเวลาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนอายุ 12-18 ปีว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้ ศธ.-สธ. จะจัดประชุมออนไลน์กับสถานศึกษา ซักซ้อมเตรียมการสื่อสารข้อมูลให้แก่ผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานศึกษาจัดประชุมสื่อสารข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ปกครอง ในการอนุญาตยินยอมให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์
โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ในต้นเดือนตุลาคมนี้ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (ไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์) ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 จะพิจารณาแยกตามข้อกำหนด มาตรการ และสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
คำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก
เชื่อว่าพ่อแม่หลายคน คงมีคำถามในใจว่า แล้วการฉีดวัคซีนให้เด็ก มีความปลอดภัยมากแค่ไหน มีความเสี่ยง มากกว่าที่จะไม่ฉีดหรือไม่
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคําแนะนําการฉีดวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ระบุว่า ข้อมูลการติดโควิด-19 ของเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ในประเทศไทย แม้สัดส่วนการติดเชื้อจะมีสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก และพบการเสียชีวิตเกือบทั้งหมดในเด็กที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรงร่วมด้วย
ดังนั้น คําแนะนําเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป มีดังนี้
- แนะนําให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปโดยองค์การอาหารและยาเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ (ณ วันที่ 7 กันยายน 2564) มีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech
- แนะนําให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปีทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจําตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กําลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดําเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากเพียงพอ
- สําหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 15 ปี แนะนําให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทําให้เกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ดังต่อไปนี้
1. บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ําหนัก 70 กิโลกรัม ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ําหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ําหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
- แนะนําให้งดออกกําลังกายอย่างหนักหรือการทํากิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งพบในอัตราที่ต่ำมาก จึงแนะนําให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชายที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งโดสที่ 1 และ 2 ควรงดการออกกําลังกายหรือการทํากิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน
และในเวลาดังกล่าวนี้หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืด เป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ โดยหากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาทําการตรวจค้นเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สําหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงดี และในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดอื่นๆ ในเด็ก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจะมีคําแนะนําเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคตต่อไป.
ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphu