แพทย์ชนบท ยกผลวิจัยประกอบ วอนนายกฯ ทบทวนจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด หวังรัฐใช้งานวิจัย เป็นเครื่องมือตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา และไม่คุ้มค่าเงินภาษี

วันที่ 27 ส.ค.64 จากกรณี องค์การเภสัชกรรม เตรียมลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด วันจันทร์ที่ 30 ส.ค.นี้ โดยยืนยันว่า องค์การฯ ไม่ได้เป็นผู้ปรับลดข้อกำหนด หรือ Spec แต่อย่างใด ในการจัดซื้อใช้ข้อกำหนดที่ สปสช. กำหนดมาตั้งแต่แรก ว่า ต้องการชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Covid-19 Antigen test Self -Test kits) หรือ Home use ไม่ใช่ Professional Use อีกทั้ง สปสช. ส่งข้อกำหนดล่าสุดในการจัดซื้อ โดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเดียว ไม่ได้กำหนดว่าต้องผ่านมาตรฐาน WHO แต่อย่างใด

ต่อมา เฟซบุ๊กเพจ ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ภาพจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี อีกฉบับ เรื่องขอให้พิจารณาเอกสารวิชาการเพื่อประกอบการตัดสินที่รอบคอบในการอนุมัติชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยยกความเห็นของ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำงานวิจัย เรื่อง “Rapid comparation evaluation of SARS-CoV-2 rapid point-of-care antigen tests” ศึกษา โดย Anna Dennzler และคณะ ได้รับการสนับสนุนทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ของประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ส่งเผยแพร่ใน website ของ “ medRxiv : The preprint server for health sciences” เพื่อรอขั้นตอน peer review ก่อนการตีพิมพ์ มาสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับชุดตรวจ ATK ที่รัฐกำลังจะจัดซื้อ ในเรื่องของความแม่นยำ ความไวในการตรวจพบเชื้อ และอ้างว่า หากใช้ test นี้ โอกาสเกิดผลลบลวง ( false negative ) สูง

...

และว่า การที่ผู้มีเชื้อโควิดซึ่งควรตรวจได้ผลว่า positive แต่ตัวชุดตรวจกลับตรวจไม่พบและแสดงผลว่า negative ย่อมส่งผลเสียกว้างขวาง เพราะทั้งแพทย์และผู้ป่วยต่างก็จะเข้าใจว่าเขาไม่พบเชื้อ แต่แท้จริงเขามีเชื้อ ทำให้เขาได้รับการรักษาที่ช้าลง และเกิดการแพร่กระจายโรคที่กว้างขวางขึ้น เพราะไม่ได้รับการกักตัวอย่างเข้มงวด

สำหรับขั้นตอนการจัดซื้อจัด ATK 8.5 ล้านชิ้นในครั้งนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่กรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ต้องพิจารณาความเหมาะสมของคุณลักษณะ (สเปก) ให้สอดคล้องกับราคาและการใช้งาน และทราบว่าจะมีการลงนามในสัญญาในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564

ชมรมแพทย์ชนบทหวังจะเห็นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะใช้งานวิชาการเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ อย่าให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งจากความไม่คุ้มค่าของภาษี การไม่ยอมรับผลของบุคลากรการแพทย์ ความสิ้นเปลืองงบประมาณในการตรวจใหม่ รวมถึงการฟ้องร้องจากการที่ผล ATK ไม่ตรงกับความเป็นจริง อันจะนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงต่อการควบคุมโรคและระบบสาธารณสุขของไทย.



ที่มาจาก เฟซบุ๊กเพจ ชมรมแพทย์ชนบท