อาลัย "หมอแอ้ม" แพทย์หญิง เสียชีวิตจากโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่น้องชายตั้งคำถาม การนำเข้าวัคซีนที่มาตรฐาน หลังสูญเสียทั้งพ่อ แม่ และพี่สาว จากโรคนี้

นายแพทย์สิทธิพงศ์ ฬาพานิช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก AVELA Clinique เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.อ.หญิง ดร.พญ.สรัญยา ฬาพานิช พี่สาว ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 แม้จะรับวัคซีนไปแล้ว

โดยระบุว่า ครอบครัวเราเสียชีวิตจากโควิด ตอนนี้สามชีวิต คือ คุณแม่ เมื่อ 25 ก.ค. คุณพ่อ 31 ก.ค. และพี่สาว เมื่อวานนี้ ผมคิดว่า ผมมีสิทธิที่จะพูดความรู้สึก และความต้องการที่เห็นสถานการณ์โควิด ในประเทศปัจจุบันนี้

ผมเองไม่อยากจะโทษวัคซีนใดๆ ว่าดีหรือไม่ดี เพราะหลายยี่ห้อฉีดครบ ก็มีเสียชีวิต แต่โดยหลักทางวิชาการที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ชนิด mRNA หรือ subunit protien น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในเบื้องต้นนี้

และแม้ว่าวัคซีนที่น่าจะครอบคลุมทุกเชื้อน่าจะเป็นลอตของปีหน้า แต่เรารอแบบนั้นไม่ได้ เราต้องมีวัคซีนที่มาตรฐานจำนวนมากกว่าที่มีตอนนี้ ปัญหาของเราคือ "กฎที่ออกว่า ใครจะซื้อ ต้องผ่านหน่วยงานรัฐ" ผมเองไม่มั่นใจในเรื่องกฎหมายเท่าไรนัก แต่ผมคิดว่า ถ้าเราสามารถออกกฎแบบราชกิจจาฯ ที่ให้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นำเข้าได้ ก็น่าจะออกให้บรรดาโรงพยาบาลเอกชน หรือ องค์กรเอกชน สามารถนำเข้าได้ ถ้าไม่เชื่อใจโรงพยาบาลเอกชนที่ใด ก็ผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็น่าจะเป็นสมาคมใหญ่ในระดับที่น่าเชื่อถือได้

การนำเข้าวัคซีนที่ยอมรับในต่างประเทศมามากที่สุด เท่าที่ทำได้ ในทุกๆ ทาง โดยไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ผ่านหน่วยงานรัฐน่าจะอนุโลมให้ใช้ในสถานการณ์ ที่คนไทยได้ฉีดวัคซีนเพียง 25% (นี่คือรวมเชื้อตาย และ mRNA) ของประชากร เพราะวัคซีนยิ่งเยอะ (โดยเฉพาะพวก mRNA และ Subunit Protein) จะยิ่งดีไม่ใช่หรือ

มันน่าจะถึงเวลาที่เราควรแก้บางกฎ เพื่อให้คนไทยได้วัคซีน "มาตรฐาน" ที่จะพอป้องกันตัวเองได้ อย่างน้อย เราก็พอมองเห็นทางสว่างข้างหน้า

ผมเชื่อว่า ถ้าออกกฎที่แก้ได้ จะมีบริษัท หรือโรงพยาบาลมากมาย หรือแม้แต่หน่วยงานใดๆ ที่จะยินดีติดต่อเอง และเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเสียเวลามามากเกินไปแล้วครับ กับคำว่ารอวัคซีนมาตรฐาน เปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ นำเข้าวัคซีนเองเถอะครับ มีมากดีกว่ามีไม่พอ

ขณะที่ใต้โพสต์ เป็นภาพของหมอแอ้ม ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัคซีน และร่วมไว้อาลัยให้กับหมอแอ้มเป็นจำนวนมาก.

...