• หลังตรวจ ATK รู้ผลเป็นบวก ตั้งสติ ประเมินอาการตัวเอง ก่อนติดต่อเข้าระบบ การกักตัวรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation
  • 4 ขั้นตอนเข้าสู่ระบบ Home Isolation เผย 50 เบอร์โทรของ 50 เขต สอบถามข้อมูล
  • กรมการแพทย์ออกหนังสือถึง รพ. ทุกสังกัด พิจารณาจ่ายยาให้แก่ผู้ติดเชื้อ จากผล ATK ได้ทันที


เป็นที่รู้กันดีว่า ระบบสาธารณสุขของไทยตอนนี้ ประสบปัญหาเตียงสำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง สีแดง ไม่เพียงพอ แม้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีการเพิ่ม รพ.สนาม หรือ ศูนย์พักคอย ให้มากขึ้น แต่สถานที่เหล่านี้ ก็ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครด่านหน้า ที่มีจำนวนจำกัด ในการช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งนั้น 

ต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุข ต้องการที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว เข้ามาในสถานพยาบาล เพื่อสำรองเตียงไว้ให้ผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง ที่มีอาการมากกว่า จึงออกมาตรการเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ให้สามารถกักตัวรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation ผ่านระบบติดตามอาการ ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน และสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่จะทำเข้าโปรแกรม Home Isolation ได้นั้น ต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์ ซึ่งประเมินอาการ และความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย

...



แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวหรือไม่ ซึ่งสามารถประเมินได้จากอาการต่างๆ ดังนี้

  • เป็นผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย
  • มีไข้ได้ตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป
  • ระดับออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 96%
  • ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
  • ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่น
  • ถ่ายเหลว
  • ไม่มีอาการหายใจเร็ว
  • ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย
  • ไม่มีอาการหายใจลำบาก
  • ไม่มีปอดอักเสบ

แต่นอกเหนือจากจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยแล้ว ผู้ที่จะเข้าระบบ Home Isolation จะต้องเป็น

  • ผู้มีอายุไม่เกิน 60 ปี
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  • ไม่มีภาวะอ้วน
  • ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวานที่คุมไม่ได้ เป็นต้น
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

โดยผู้ติดเชื้อจะต้องเตรียมพร้อม อุปกรณ์สำหรับป้องกันเชื้อ ไว้ที่บ้าน อาทิ

  • เจลล้างมือ
  • แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
  • หน้ากากอนามัย
  • ถุงสำหรับขยะติดเชื้อ
  • ทิชชูแห้ง ทิชชูเปียก
  • น้ำยาฟอกขาวสำหรับทำความสะอาด
  • ยารักษาโรคที่กินเป็นประจำ

จากนั้นผู้ที่จะเข้า Home Isolation จะมี 4 ขั้นตอน เพื่อเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน คือ 

1. ใช้ชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ที่ผ่านการรับรองจาก อย.) ตรวจด้วยตัวเอง หรือตรวจจากหน่วยตรวจโควิดเชิงรุก

2. หากผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) และผู้ป่วยต้องการแยกกักตัวที่บ้าน ให้ติดต่อ 1330 หรือกรอกข้อมูลผ่านระบบคิวอาร์โค้ด หรือคลิกที่นี่

3. เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ หลังจากจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล ที่จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน

4. แพทย์จะทำการพิจารณาผู้ป่วยอีกครั้ง หากไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) จะสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านได้

ตรวจด้วย ATK ผลเป็นบวก จ่ายยาทันที

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือถึงแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน เรื่องแนวทางการดูแลผู้ที่มีผลตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK เป็นบวก โดยระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการกระจายเชื้ออย่างรวดเรร็ว ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งด้านการควบคุมโรค และการเข้าถึงการรักษา

กระทรวงสาธารณสุข จึงมีแนวทางการใช้การตรวจแบบ Antigen Test Kit หรือ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดเบื้องต้น และลดปัญหาการเข้าถึงการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาล่าช้า

กรมการแพทย์ จึงขอแจ้งแนวทางการดูแลผู้ที่มีผลการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit และผลเป็นบวก ดังนี้

- หากผลเป็นบวก เรียกว่า “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย” สามารถรับยา และเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation ได้ทันที

- หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในลักษณะ Community Isolation หรือในสถานพยาบาล “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย” ควรได้รับการตรวจ RT-PCR คู่ขนาน และให้พยายามแยกจากผู้ป่วยโควิด ระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR เนื่องจากการตรวจด้วย ATK ให้ผลบวกลวงได้ร้อยละ 3-5

เบอร์โทร 50 เขต สอบถาม Home Isolation



นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ได้รวมหมายเลขโทรศัพท์ประจำเขต 50 เขต สำหรับการสอบถามเรื่องการทำ Home Isolation และ Community Isolation ในกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น

หมายเลขประจำเขตเขตกรุงเทพเหนือ
เขตจตุจักร : 02-026-3100
เขตดอนเมือง : 02-026-3122
เขตบางเขน : 02-026-3166
เขตบางซื่อ : 02-026-3233
เขตลาดพร้าว : 02-026-3499
เขตสายไหม : 02-026-3500
เขตหลักสี่ : 02-026-6800

หมายเลขประจำเขตเขตกรุงเทพกลาง
เขตดินแดง : 02-092-7016
เขตดุสิต : 02-092-7121
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย : 02-092-7313
เขตพญาไท : 02-092-7580
เขตพระนคร : 02-092-7643
เขตราชเทวี : 02-092-7701
เขตวังทองหลาง : 02-092-7910
เขตสัมพันธวงศ์ : 02-094-1429
เขตห้วยขวาง : 02-096-9112

หมายเลขประจำเขตเขตกรุงเทพตะวันออก
เขตคลองสามวา : 02-096-9202
เขตคันนายาว : 02-483-5000
เขตบางกะปิ : 02-483-5001
เขตบึงกุ่ม : 02-483-5002
เขตประเวศ : 02-483-5003
เขตมีนบุรี : 02-483-5004
เขตลาดกระบัง : 02-483-5005
เขตสะพานสูง : 02-483-5006
เขตหนองจอก : 02-483-5007




หมายเลขประจำเขตเขตกรุงเทพใต้
เขตคลองเตย : 02-096-2823
เขตบางคอแหลม : 02-096-2824
เขตบางนา : 02-096-2825
เขตบางรัก : 02-096-2826
เขตปทุมวัน : 02-096-2827
เขตพระโขนง : 02-096-2828
เขตยานนาวา : 02-096-2829
เขตวัฒนา : 02-096-2830
เขตสวนหลวง : 02-096-2831
เขตสาทร : 02-096-2832

หมายเลขประจำเขตกรุงธนฯ เหนือ
เขตคลองสาน : 02-023-9900
เขตจอมทอง : 02-023-9911
เขตตลิ่งชัน : 02-023-9922
เขตทวีวัฒนา : 02-023-9933
เขตธนบุรี : 02-023-9944
เขตบางกอกน้อย : 02-023-9966
เขตบางกอกใหญ่ : 02-023-9977
เขตบางพลัด : 02-023-9988

หมายเลขประจำเขตกรุงธนฯ ใต้
เขตทุ่งครุ : 02-483-5008
เขตบางขุนเทียน : 02-483-5009
เขตบางแค : 02-483-5010
เขตบางบอน : 02-483-5011
เขตภาษีเจริญ : 02-483-5012
เขตราษฎร์บูรณะ : 02-483-5013
เขตหนองแขม : 02-483-5014

มีอาการมากขึ้น ติดต่อแพทย์ทันที

แต่หากระหว่างการแยกกักตัวที่บ้าน เกิดอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบติดต่อแพทย์ทันที

  • ไข้สูงมากกว่า 38.5 องศา
  • ท้องเสีย อาเจียน กินอาหารไม่ได้
  • หายใจไม่สะดวก ติดขัด พูดเป็นประโยคยาวๆ ไม่ได้
  • วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้ต่ำกว่า 96%
  • ไอมากขึ้น แน่นหน้าอกต่อเนื่อง นอนราบไม่ได้
  • มีการซึมลง เรียกไม่รู้สึกตัว หรือไม่ตอบสนอง

ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก หากมีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้รีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

  • หายใจหอบ
  • ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
  • ใช้แรงในการหายใจ เช่น หายใจอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน
  • ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 96%
  • ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม กินอาหารไม่ได้

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อจะสิ้นสุดการรักษาแบบกักตัวที่บ้านได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับการประเมินจาก แพทย์ผู้ดูแล

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยโควิดสีเขียว จะพร้อมทำการ Home Isolation เพื่อสละเตียงในสถานพยาบาลให้ผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า แต่ก็ยังมีเสียงเล็ดลอดออกมาจากผู้ป่วยบางรายว่า ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ไม่ได้รับแม้กระทั่งยา อุปกรณ์จำเป็น หรือคำแนะนำใดๆ จากแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ ทางผู้เกี่ยวข้อง อาจจะต้องสำรวจ ติดตาม ผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการเลวร้ายลง จะได้ประเมินการรักษาได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดตามมา.

ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟฟิก : Varanya Pae-araya, Sathit Chuephanngam