ในที่สุดสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ล้นระบบสาธารณสุขก็มาถึงจุด “ถังออกซิเจนทางการแพทย์” เริ่มขาดตลาดจาก “ผู้คนกังวลกลัวติดเชื้อ” จนซื้อตุนไว้ยามฉุกเฉินที่ต้องป่วยกักตัวอยู่บ้าน

สาเหตุจาก “ผู้ติดเชื้อ” มีตัวเลขทะลุหมื่นหลายวันเข้าสู่ “วิกฤติโรงพยาบาลเตียงไม่พอรองรับ” ปล่อยให้คนไข้ต้องนอนรักษาตัวอยู่บ้านจนก่อนหน้านี้มี “บางคน” ทนรอไม่ไหวสิ้นใจคาบ้าน และออกมานอนตายข้างถนนตามซอยในเขตกรุงเทพฯ กลายเป็นเหตุสลดหดหู่ใจกันทั้งประเทศ

จนผู้คนตื่นตระหนกกังวล “ออกซิเจนทางการแพทย์ขาดแคลน” ดังปรากฏในหลายประเทศนำมาสู่ความสูญเสียต่างดิ้นรนหาทางรอด “กักตุนถังออกซิเจน” ที่อาจกระทบ “ศูนย์โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยผู้ป่วย และ Home Isolation” ไม่มีออกซิเจนพอให้ผู้ป่วยเริ่มอาการรุนแรงขาดออกซิเจนก็ได้

ความกังวลออกซิเจนขาดแคลนสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 นี้ ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) ผู้ผลิตออกซิเจนรายใหญ่ของประเทศ บอกว่า การระบาดโควิด-19 ลุกลามบานปลายค่อนข้างรุนแรง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากถึงวันละหมื่นราย

...

ผลักดันให้กลายเป็นปัญหา “เตียงใน รพ.เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่อาจรับผู้ป่วยเพิ่มสะสมได้” ทำให้ผู้มีผลตรวจยืนยันติดโควิดแล้ว “ตกค้างตามบ้าน และชุมชน” รอการเข้าสู่ระบบรักษาอยู่มากมาย ในจำนวนนี้ก็มี “ผู้ป่วยหนัก” มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนแล้วด้วย

อีกทั้ง “ประชาชนบางส่วน” รู้สึกกังวลไม่มั่นใจในสถานการณ์โรคระบาดผลักดันให้ต้องซื้อถังออกซิเจน อุปกรณ์ เครื่องผลิตออกซิเจนเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจำเป็นจนทำให้สิ่งเหล่านี้เริ่มหายากขาดตลาดแล้ว

จริงๆแล้ว...“ออกซิเจนทางการแพทย์ในประเทศ” ยังไม่วิกฤติขาดแคลนมากนัก เพราะตามปกติ “บีไอจี” มีกำลังผลิตออกซิเจนสูงสุด 1,000 ตันต่อวัน กระจายใช้เพื่อการแพทย์ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง และยังมีบรรจุใส่ถังออกซิเจนสีเขียวจำหน่ายร้านทั่วไปรวมแล้วอยู่ราว 300 ตันต่อวัน

กระทั่ง “โควิดระบาด” มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มเป็นหลักหมื่นคน ในจำนวนนี้มี “ผู้ป่วยหนักสะสม” ทั้งที่รักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ผู้ป่วยที่ดูแลตนเองระบบ Home Isolation และผู้ป่วยนอกระบบรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีความจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนต่อวันเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ 400 ตัน หรือเพิ่มขึ้นราว 20%

อีกทั้ง “สถานการณ์ระบาดรุนแรง” ที่ไม่มีวี่แววคลี่คลายลง เชื่อว่า “ออกซิเจนเพื่อทางการแพทย์” ก็ยังมีความจำเป็นต่อการรักษา “ผู้ติดเชื้ออาการหนัก” อยู่ในขั้นวิกฤติที่น่าจะเพิ่มขึ้นในเร็วๆนี้อีกมาก

เช่นนี้แล้วจึงมี “แผนเพิ่มกำลังการผลิต และการสำรองออกซิเจนเหลว” ในถังเก็บสำรองที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ขนาดความจุ 7,300 ตัน ในเดือน ส.ค.นี้จะมีการเปิดโรงงานแยกอากาศแห่งใหม่ ที่มีกำลังการผลิตออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน รวมเป็นเกือบ 1,150 ตันต่อวัน

สิ่งสำคัญ “การขนส่งออกซิเจน” เป็นรูปแบบของเหลวแล้ว “โรงพยาบาล” ก็เปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซบรรจุลงถังเป็นออกซิเจน ข้อดีในการขนส่งแบบของเหลว “สามารถระเหยกลายเป็นก๊าซออกซิเจน 800 เท่า” ทั้งยังมีออกซิเจนจาก “อุตสาหกรรม” ความบริสุทธิ์มาตรฐานเดียวกันนำมาเสริมความต้องการทางการแพทย์ได้อีก

ดังนั้นแง่กำลังผลิตแล้วเพียงพอรองรับความต้องการระบบสาธารณสุขไทยได้แน่ๆ เพราะ “โรงพยาบาล” ไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มเติมแล้วทำให้ตัวเลขการใช้ออกซิเจนคงที่ ในส่วน “โรงพยาบาลสนาม” ก็สามารถใช้เป็นออกซิเจนเหลวได้ ทำให้จุดนี้ไม่น่าเป็นห่วงกังวลมากนัก

ประเด็นความกังวลอยู่ที่ “ผู้ใช้ออกซิเจนแบบถังอยู่บ้าน” เดิมมีอยู่ไม่ค่อยมากแต่เมื่อ “วิกฤติโรคระบาดโควิด” ทำให้ผู้ใช้กลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก “ผู้ป่วยบางคน” ไม่อาจเข้าระบบในโรงพยาบาลได้ “ต้องรักษาตัวอยู่ในบ้านตามชุมชน” จำเป็นต้องใช้ถังออกซิเจนจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุจาก “ประเทศเพื่อนบ้าน” กำลังเผชิญ “โควิดระบาดหนัก” ต้องการถังออกซิเจนสีเขียวจำนวนมาก ทำให้รับซื้อราคาค่อนข้างสูงเฉพาะตัวถังขนาด 6 คิว 12,000-15,000 บาทต่อถัง แต่ที่ในไทยซื้อขายกันราว 4,000-6,000 บาทต่อถัง ทำให้กลายเป็นแรงจูงใจ “คนบางกลุ่ม” พยายามนำถังออกนอกประเทศ

“เท่าที่เข้าใจ...“ลักษณะการนำถังออกซิเจนออกนอกประเทศ” ก็ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ เหตุนี้จึงมีการลำเลียงนำออกนอกประเทศกันอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้ “ถังออกซิเจนถูกดึงออกจากระบบมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น” กลายเป็นสภาวะขาดแคลนไม่มีถังออกซิเจนใช้หมุนเวียนในประเทศได้ตามมา”

ตอกย้ำด้วย...“ถังหมุนเวียนใช้ทั่วประเทศ 9 หมื่นถัง” กำลังถูกดึงออกระบบลดน้อยอีกด้วย “คนในประเทศกักตุน” จากความกังวลกับสถานการณ์ “ผู้คน” จำนวนไม่น้อยต่างพากัน “ซื้อถังเปล่าเก็บ” เตรียมใช้งานยามฉุกเฉิน สิ่งนี้ยิ่งทำให้ “ถังออกซิเจน” หาซื้อได้ยากขึ้นเกินกว่าที่จะเป็นแล้วด้วยซ้ำ

ไม่นานนี้มีข่าว “ลักลอบนำถังแก๊สหุงต้มหรือถัง LPG” ดัดแปลงเป็นถังเติมออกซิเจนแทนแล้วนับว่า “อันตรายเสี่ยงถังระเบิด” จากปฏิกิริยาเคมี “ออกซิเจนเจอแก๊สเชื้อเพลิงหุ้ม” ทั้งเสี่ยงกระทบต่อร่างกายจริงๆแล้ว “ถังประเภทนี้” โรงงานบรรจุออกซิเจนมักไม่เติมให้เพราะเป็นถังไม่มาตรฐาน มอก.ออกซิเจนทางการแพทย์ ไม่ผ่านการทดสอบภาชนะบรรจุ มอก.358-2551 แต่ต้องยอมรับว่า “โรงงานบรรจุออกซิเจน” ตั้งอยู่หัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคมากมาย ที่อาจไม่ตรวจสอบจนหลุดรอดก็มีอยู่

เบื้องต้นตอนนี้ “สั่งถังออกซิเจนใหม่” เข้ามาเพิ่มจากประเทศจีนราว 20% ของถังที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพราะถังออกซิเจนทางการแพทย์ไม่สามารถผลิตในไทยได้ จึงต้องสั่งนำเข้าเท่านั้น หากเป็นไปได้มีการประสานระหว่างรัฐต่อรัฐจะช่วยทำให้การนำเข้าสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อนำมารองรับการใช้ในช่วงวิกฤติโควิดนี้

ตอนนี้แนะนำว่า “ภาครัฐ” ควรต้องควบคุมการนำออกนอกประเทศ เพื่อให้มีถังออกซิเจนใช้หมุนเวียนในประเทศได้ไม่กระทบต่อ “ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวอยู่บ้าน...ชุมชน” ที่จำเป็นต้องใช้ “ถังก๊าซออกซิเจน” ในระหว่างรอเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล อันเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยได้หลายคนด้วยซ้ำ

ส่วน “ประชาชน” ก็ไม่ควรกักตุนถังออกซิเจน เพราะสุดท้ายไม่มีความรู้ ใช้งานแบบผิดวิธีมัก “เสี่ยงอันตรายหลายด้าน” ทั้งเรื่องถังอายุเกิน 5 ปีต้องตรวจสอบมาตรฐาน มิเช่นนั้นเสี่ยงมีรอยรั่วสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในถัง และก่อให้เกิดออกซิเจนชื้นมากก็ไม่ได้แห้งไปก็ไม่ดี อันจะส่งผลต่อร่างกายตามมาได้ทั้งสิ้น

ย้ำว่า...“การระบาดโควิด” ทำให้หลายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ กลายเป็นปัญหา “ตกค้างตามบ้าน และชุมชน” ในจำนวนนี้ก็มี “ผู้ป่วยหนักสีเหลือง และกลุ่มสีส้ม” จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนทางการแพทย์เร่งด่วน

ในส่วน “บีไอจี และผู้แทนจำหน่ายรอบกรุงเทพฯ” จัดให้หน่วยงาน มูลนิธิ อาสาสมัครกู้ภัย นำถังมาเติมออกซิเจนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจัดส่งให้ผู้ป่วยโควิดได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังสนับสนุนมอบ “ถังออกซิเจนให้มูลนิธิหลายองค์กร” ในการนำออกซิเจนไปช่วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ดูแลตนเองที่บ้านอีกด้วย

ยืนยันว่า “ปริมาณการผลิตออกซิเจน” มีเพียงพอต่อความต้องการทางการแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน แต่ฝากถึง “หน่วยงานรัฐ” ควรมีมาตรการป้องกัน “การดึงถังออกนอกระบบ” เพื่อให้มีหมุนเวียนตามระบบกลไกเดิม สิ่งนี้จะทำให้ไม่ขาดแคลนสำหรับใช้ในยามวิกฤติครั้งนี้

ขอฝากกันไว้ว่า “อย่ากักตุนถังออกซิเจนกัน” สุดท้ายใช้ไม่ถูกวิธีก็กลายเป็น “โทษมากกว่าคุณ” แต่ควรปล่อยอยู่ในระบบเกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ร่วมกันเท่านี้ก็ไม่ขาดแคลนแล้ว

เรา “คนไทยทุกคน” จะต้องผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมกัน.